จ.อุบลฯ ร่วมกับ “บวร” (บ้าน วัด ราชการ) ปิดการฝึกอบรม “โคก หนอง นา โมเดล” รุ่นที่ 27 รองพ่อเมือง ชูหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต
วันที่ 19 มีนาคม 2564 เวลา 14.30 น. ณ วัดป่าศรีแสงธรรม บ้านดงดิบ ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้นายเมธา รุ่งฤทัยวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีปิดการฝึกอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล” รุ่นที่ 27 จำนวน 101 คน ณ วัดป่าศรีแสงธรรม บ้านดงดิบ ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี พัฒนาการอำเภอโพธิ์ไทร พัฒนาการอำเภอทุ่งศรีอุดม เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ทีมวิทยากรและผู้นำชุมชนในพื้นที่ เข้าร่วมพิธีและสนับสนุนการดำเนินงาน ทั้งนี้ ได้รับความเมตตาจากพระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีแสงธรรม ที่ให้ความอนุเคราะห์สถานที่ในการฝึกอบรมและร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนตลอดมา ตามหลัก “บวร” หรือบ้าน วัด ราชการ
โอกาสนี้ ประธานในพิธีฯ ได้กล่าวกับผู้ผ่านการฝึกอบรมว่า “การดำเนินโครงการที่ผ่านไปนั้น ถือเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมหาศาล เนื่องจากเป็นการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ว่าจะต้องทำอะไรไม่ให้เกินตัว มีเหตุผล พอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน ภายใต้เงื่อนไข ความรู้เเละคุณธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์นั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกท่านพึงมี เพราะถือว่าเป็นหลักสำคัญในการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม การยึดหลักคุณธรรม หลักจริยธรรม หลักความซื่อสัตย์ จะส่งผลทำให้มีความเจริญในอาชีพ ในส่วนของการฝึกอบรมครั้งนี้ เน้นเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ก่อให้เกิดประสบการณ์จริง สามารถเป็นประโยชน์ไปใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อท่านผ่านการอบรมฯ ไปแล้ว ขอให้นำเอาความรู้ที่ได้ไปพัฒนาพื้นที่และร่วมขับเคลื่อนเป็นศูนย์เรียนรู้หลักเศรษฐกิจพอเพียงตามหลักทฤษฎีใหม่ในรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ซึ่งท่านต้องสามารถถ่ายทอดให้คนอื่นได้อย่างเป็นรูปธรรม อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ท้องถิ่นชุมชนของท่านและเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศชาติด้วย นอกจากนั้นโครงการนี้ ยังมุ่งเน้นถึงบริหารพื้นที่เเละสร้างองค์ความรู้ เพื่อทำให้เป็นแบบอย่างหรือศูนย์เรียนรู้ เกิดการลดรายจ่าย ทำให้เกิดรายได้ มีการออม ทำให้เศรษฐกิจครัวเรือนดีขึ้น เป็นพื้นฐานสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ขอฝากให้ทุกท่านได้จัดทำบัญชีครัวเรือน เพราะเป็นประโยชน์ในการวางแผนการใช้จ่ายของท่าน ทำให้ทราบว่ารายได้ท่านมาจากไหนบ้าง รายจ่ายท่านจ่ายไปในรูปแบบไหนบ้าง เป็นการวางแผนลดรายจ่าย เพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง ขออวยพรให้ทุกท่านโชคดีและมีความสุข” ประธานในพิธีฯ กล่าวก่อนปิดการฝึกอบรม
จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการอนุมัติงบประมาณดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบโคก หนอง นา โมเดล ให้สามารถเป็นแกนนำขับเคลื่อนการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ดำเนินการ 48 รุ่นๆ ละ 5 วัน กลุ่มเป้าหมายเข้ารับการอบรม 4,790 คน ประกอบด้วยครัวเรือนพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตครัวเรือนละ 1 คน และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ จำนวน 898 คน ระยะเวลาดำเนินการระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 4 มิถุนายน พ.ศ. 2564 จุดดำเนินการ 5 แห่ง ดังนี้ 1)ศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จำนวน 16 รุ่น 2)วัดป่าศรีแสงธรรม ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จำนวน 11 รุ่น 3)ศูนย์ฝึกอบรมวัดภูอานนท์ ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จำนวน 11 รุ่น 4)ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชนสารภีท่าช้าง ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จำนวน 5 รุ่น และ 5)ชุมชนต้นแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนหมู ตำบลขามเปี้ย อำเภอตระการพืชผล จำนวน 5 รุ่น
สำหรับการฝึกอบรมฯ รุ่นที่ 27 ระหว่างวันที่ 15-19 มีนาคม 2564 ณ วัดป่าศรีแสงธรรม แห่งนี้ มีฐานการเรียนรู้ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ จำนวน 10 ฐาน ประกอบด้วย 1)ฐานคนมีไฟ 2)ฐานคนมีน้ำยา 3)ฐานคนเอาถ่าน 4)ฐานรักษ์แม่ธรณี 5)ฐานรักษ์แม่โพสพ 6)ฐานคนรักษ์สุขภาพ 7)ฐานคนรักษ์ดิน 8)ฐานคนรักษ์ป่า 9)ฐานคนรักษ์น้ำ และ 10)ฐานคันนาทองคำ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการฝึกอบรมฯ รวมทั้งสิ้น 101 คน จากอำเภอทุ่งศรีอุดม จำนวน 50 คน และอำเภอนาจะหลวย จำนวน 51 คน แยกเป็นครัวเรือนต้นแบบจำนวน 65 คน และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) จำนวน 36 คน และได้รับการสนับสนุนวิทยากรที่ผ่านการอบรมจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ และทีม SAVEUBON ร่วมกับวิทยากรจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ทั้งนี้ ได้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังโรคไวรัส COVID-19 อย่างเคร่งครัด จนสามารถดำเนินโครงการฯ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี…ภาพข่าว/รายงาน