ปทุมธานี เปิดตำนานปทุมธานี ผ่านคัมภีร์มอญ

” เปิดตำนานปทุมธานี ผ่านคัมภีร์มอญ” คลังความรู้มรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน
เมื่อเวลา13.00 น.วันที่ 16 มี.ค.2564 ณ ศาลาการเปรียญ วัดศาลาแดงเหนือ ชุมชนศาลาแดงเหนือ ตำบลเชียงรากน้อย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ประธานโครงการเปิดตำนานปทุมธานี ผ่านคัมภีร์มอญ ประจำปี 2564 โดยมีนางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี นายเศรษฐรัชต์ เลือดสกุล อุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ว่าที่ ร.ต.ขรรค์ไชย ทันธิมา ท้องถิ่นจังหวัดปทุมธานี อาจารย์ ดร.พิศาล บุญผูก ผู้เชี่ยวชาญด้านมอญศึกษา นางวรนุช สุนทรวินิต อดีตผู้อำนายการสำนักบรรณาสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นายวิเชียร กุ่มเกวียน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงรากน้อยพร้อมด้วยชุมชนคุณธรรมวัดศาลาแดงเหนือ ร่วมเสวนา” เปิดตำนานปทุมธานี ผ่านคัมภีร์มอญ” เปิดเรื่องราวของคัมภีร์ใบลาน อาทิ ผ้าห่อคัมภีร์ การทำความสะอาดคัมภีร์ การอบคัมภีร์ การลงทะเบียนคัมภีร์ และการผูกคัมภีร์


อาจารย์ ดร.พิศาล บุญผูก ผู้เชี่ยวชาญด้านมอญศึกษา เปิดเผยว่า การสร้างคัมภีร์ใบลานของผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชน มีมาแต่ครั้งอดีตกาล เป็นวัฒนธรรมที่ยึดถือปฏิบัติและสืบทอดต่อกันมาแต่โบราณกาลทั้งในกลุ่มวัฒนธรรมชาวล้านนา หรือกลุ่มวัฒนธรรม ชาวมอญ เป็นความเชื่อว่า ผู้ใดที่สร้างคัมภีร์ใบลานถวาย ถือว่าเป็น “การสร้างธรรม” จะได้อานิสงส์ผลบุญเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต ด้วยเหตุนี้ในอดีตแต่โบราณกาลจึงมีธรรมเนียมนิยมสร้างคัมภีร์ใบลานถวายไว้กับพระศาสนามากมายและในการที่จะถวายคัมภีร์นั้นก็จะต้องทอผ้าห่อคัมภีร์ห่อหุ้มคัมภีร์ไว้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกหรือการชำรุดฉีกขาดที่จะเกิดแก่ตัวคัมภีร์และถือเป็นพุทธบูชาเพื่อเป็นอานิสงส์ในชาติภพหน้าต่อไป สะท้อนให้เห็นศรัทธาอันเปี่ยมล้นของผู้ถวายที่บรรจงสร้างผ้าห่อคัมภีร์ขึ้นอย่างพิถีพิถันด้วย


คัมภีร์ใบลานเป็นวัสดุบันทึกข้อมูลความรู้ที่ผลิตมาจากวัสดุในธรรมชาติคือใบปาล์ม ซึ่งมีชื่อเรียกใบปาล์มแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศเช่น ในสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาเรียกว่าโอลา (ola)ในอินเดียเรียกว่า ทูลา สิโทลา หรือการาลิกา (tula, sritola or karalika) ในประเทศไทยเรียกว่าใบลาน (palm-leaf)(Ghosh, 2012)เมื่อมีการบันทึกข้อมูลความรู้บนใบลานแล้ว ก็มีการนำมาร้อยเรียงเข้าไว้ด้วยกันหลายๆ ใบ เรียกว่า ผูก และมีการใช้ผ้าหลากหลายชนิดห่อผูกใบลานตามวิธีพื้นบ้านที่ปฏิบัติกันมาแต่โบราณเรียกว่า ผ้าห่อคัมภีร์ เพื่อป้องกันฝุ่น แมลง ความร้อน ความชื้น เหมือนการห่อปกหนังสือในปัจจุบัน ผ้าห่อคัมภีร์นอกจากจะทำหน้าที่แยกคัมภีร์แต่ละผูกหรือแต่ละเรื่องออกจากกัน ยังทำหน้าที่รักษาคัมภีร์ใบลานไม่ให้ชำรุดเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควรคัมภีร์ใบลานบางผูกยังอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์แม้จะผ่านกาลเวลามามากกว่า 200 ปี การสร้างผ้าห่อคัมภีร์ใบลานของแต่ละประเทศในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกเหนือจากมิติการนำผ้าห่อคัมภีร์มาใช้เพื่อปกป้องรักษาคัมภีร์ใบลานแล้วยังแฝงไว้ด้วยมิติแห่งพลังศรัทธา คตินิยมทางศาสนา ความเชื่อ มิติด้านชนิดผ้าและเสน่ห์ของลวดลายผ้าที่ชวนแก่การศึกษาวิจัย
ในคัมภีร์ใบลานของชาวมอญ บางส่วน บางตอนของเนื้อหาในคัมภีร์ มีการบอกถึง ว่าด้วยการสร้างเมืองปทุมธานี โดยแปลเป็นภาษาไทยมีใจความว่า


กล่าวแล้วจึงย่างเท้า ค่อยย่างก้าวไปโดยพลัน ออกจากหมู่บ้านนั้น ด้วยใจมั่นค่อยย่างไปตรวจดูอย่างถ้วนถี่ ทุกพื้นที่ไม่คลาดได้ บุกหนามพงหญ้าไป ระวังภัยไปตามทางเดินทางตามชายนา แสงแดดกล้าแสนร้อนหลัง ไม่มีที่ร่มบัง คุณพระยังด้นเดินไปเสโทไหลหลั่งมา ทั้งหน้าตาเหงื่อท่วมกาย เดินทางหลายโยชน์ได้ จนจรดท้ายย่านชุมชนวัดโสย่านบ้านมอญ คุณพระเดินดั้นด้น คุณพระอยู่หัวสะพาน ถี่ถ้วนดูชัดชัดพื้นที่ราบไม่ลุ่ม ครบองค์ทั้งสี่นี้ เรือแพจอดได้ง่าย อีกทั้งมีพฤกษานานาใกล้บ้าน ใกล้อาราม น้ำลึกไม่ลุ่มไป พิเคราะห์ดูเหมาะแท้ ใช้สร้างเมืองปทุมธานีบทจรถึงบัดดล ถึงศาลาที่หน้าวัด ดูสถานที่อย่างถนัด ทั้งดินอุ้มทรายได้ดีอยู่ใกล้วัดพื้นที่นี้ มีที่จอดแพนาวา มาจอดได้ที่เชิงท่า ดาษดาขึ้นทั่วไปใกล้ท่าน้ำใกล้นาไร่ น้ำไม่ขาดบริบูรณ์ดี ควรค่าแก่พื้นที่นี้ เหมาะสมดีทุกประการผ้าห่อคัมภีร์จะใช้สำหรับการห่อคัมภีร์ใบลานซึ่งนอกจากจะเป็นการป้องกันการชำรุดเสียหายที่จะเกิดแก่ตัวคัมภีร์แล้ว ผ้าห่อคัมภีร์ที่ทอขึ้นยังสะท้อนถึงวัฒนธรรมของกลุ่มชนท้องถิ่น ในแวดวงวิชาการ และความรู้เกี่ยวกับมอญแล้ว อาจารย์ ดร.พิศาล บุญผูก นับว่าเป็นบุคคลสำคัญ ท่านหนึ่ง เพราะท่านได้เขียนตำรา หนังสือ และแปลคัมภีร์ภาษามอญ ไว้มากมายหลายเล่ม


โดยในงาน” เปิดตำนานปทุมธานี ผ่านคัมภีร์มอญ”ยังมีกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องราวของคัมภีร์ใบลาน อาทิ ผ้าห่อคัมภีร์ การทำความสะอาดคัมภีร์ การอบคัมภีร์ การลงทะเบียนคัมภีร์ และการผูกคัมภีร์และนำผ้าใยกล้วยบัวหลวงมาห่อคัมภีร์ถวายพระสงฆ์
คัมภีร์มอญของวัดศาลาแดงเหนือทั้งหมด กว่า 5,000 เล่มจะเก็บรักษาไว้ที่ หอไตรปิฎกวัดศาลาแดงเหนือ เป็นอาคารคอนกรีตมีศิลปกรรมแบบมอญ คือ องค์เจดีย์ช่วงบนและลวดลายลูกกรงและท่อน้ำทิ้งท่ารูปปลา และมีพญาครุฑอยู่เหนือประตูและหน้าต่างทั้ง 4 ด้าน โครงสร้างตัวอาคารหอไตรน่าจะได้ความคิดแบบฝรั่งและมีบันไดขึ้นทั้งสองด้านอยู่ทางทิศตะวันตก ตัวบันไดนี้ไม่ติดอาคารหอไตร เพราะกลัวมดหรือปลวกจะเดินไปได้ และมีสระทำเขื่อนคอนกรีตทั้ง 4 ด้าน และมีบันไดลงสระน้ำอยู่ทางด้านทิศตะวันออก สระน้ำนี้ในสมัยก่อนวัดศาลาแดงเหนือ พระสงฆ์จะใช้หอไตรสรงน้ำ และไอน้ำที่อยู่ใต้หอไตรรักษาใบลานไม่ให้แห้งกรอบ
ด้านนางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า หมู่บ้านศาลาแดงเหนือเป็นหมู่บ้านชาวไทยเชื้อสายมอญ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คนมอญที่อาศัยในเขตสามโคก และเมืองปทุมธานีนั้น อพยพเข้ามาสามครั้งใหญ่ๆ คือสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่อำเภอสามโคก ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ด้วยความที่บรรพบุรุษคนมอญศาลาแดงเหนือมีความชำนาญในการออกเรืออยู่แล้ว ทำให้เมื่อย้ายมาอยู่ที่บ้านศาลาแดงเหนือจึงมีอาชีพหลักเป็นการออกเรือไปนอกหมู่บ้านเพื่อค้าขายและรับจ้าง


ชาวมอญที่บ้านศาลาแดงเหนือมีสถานที่รวมใจของคนในหมู่บ้าน คือวัดศาลาแดงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญของชุมชน เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา และมีการจัดเก็บคัมภีร์ใบลานภาษามอญด้วย เพราะในอดีต วัดเป็นศูนย์กลางการเรียนภาษามอญบาลีของคนมอญในแถบนี้ ความรู้ที่อยู่ในคัมภีร์เป็นสิ่งทรงคุณค่า ชุมชนจึงต้องการอนุรักษ์และทำสำเนาคัมภีร์ใบลานในรูปแบบไฟล์ดิจิทัลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายต่อไปในอนาคตการทำผ้าห่อคัมภีร์ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ และเก็บรักษาคัมภีร์ใบลานโบราณ ที่เป็นเสมือนคลังความรู้ของชุมชน และยืดอายุการใช้งานและปกป้องรักษาคัมภีร์ใบลานจากฝุ่น แมลง ความร้อน ความชื้นในอากาศ ตลอดจนเผยแพร่องค์ความรู้ที่ถูกผนึกไว้ในคัมภีร์ให้แก่ชาวบ้าน และเยาวชนได้เรียนรู้ และเห็นถึงความสำคัญในการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่สืบไป