ปทุมธานี ชุมชนคุณธรรมวัดหน้าไม้โชว์ของดีบ้านฉัน

ชุมชนคุณธรรมวัดหน้าไม้ ปทุมธานี โชว์ของดีบ้านฉัน หุ่นประดิษฐ์จากเศษเหล็กและผ้าคลุมลูกไม้กล่องกระดาษทิชชู
ที่ชุมชนคูณธรรมวัดหน้าไม้ ต.หน้าไม้ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี แห่งนี้ นำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดจากฐานความเข้มแข็งเดิมและนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาและทุนทางวัฒนธรรม(CPOT) หรือของดีบ้านฉัน เป็นผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการที่สะท้อนภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันมีความโดดเด่นของชุมชนในท้องถิ่น


งานประดิษฐ์เกี่ยวเป็นสิ่งที่ทำขึ้นโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่ทำให้เกิดความประณีต สวยงาม น่าสนใจ เกิดประโยชน์ เช่น งานที่นำของเหลือเช่นเศษเหล็กจากรถมาสร้างสรรค์ให้เกิดผลิตภัณฑ์ งานนำผ้าลูกไม้มาแปรรูปมาเป็นผ้าคลุมกล่องใส่กระดาษทิชชู ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นแปรรูปผลิตภัณฑ์ และเพิ่มมูลค่าของสินค้าในชุมชนเพื่อใช้เป็นของขวัญ ของฝาก ของที่ระลึก มอบให้กันในโอกาสต่าง ๆ ที่มีประโยชน์สามารถใช้ในบ้านเรือน โรงแรม ร้านค้าฯลฯ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปสู่การประกอบอาชีพและเข้าสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ต่อไปได้


นายพีระ แย้มยิ้ม ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ผู้ผลิตหุ่นประดิษฐ์จากเศษเหล็ก กล่าวว่า เศษซากวัสดุเหลือใช้จากการซ่อมรถจักรยานยนต์ประเภท เหล็ก ซี่ลวดรถมอเตอร์ไซค์ น๊อตล้อ หัวเทียน มันเลยกลายเป็นขยะชิ้นเล็กๆ จำนวนมากในบ้านที่ไม่มีที่ไปนอกจากนำไปชั่งกิโลขาย จึงอยากจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เลยนำชิ้นส่วนโลหะต่างๆ เหล่านั้น มาเชื่อมประกอบเป็นชิ้นงาน ออกแบบใหม่ให้กลายเป็นหุ่นยนต์ตัวจิ๋ว ในรูปแบบหลากหลาย ชิ้นงานที่ตนประดิษฐ์ขึ้นมานั้นอาจไม่สวยงามเท่ากับหุ่นยนต์หรือชิ้นงาน ที่ผลิตจากเครื่องจักร เพราะตนทำด้วยสองมือของตนเอง เป็นไอเดียที่ไม่ได้ลอกเลียนแบบมาจากใคร ราคาชิ้นงานของตนจึงมีราคา 400 บาทไปจนถึง 1,000บาท


นายทรงเดช ขุนแท้ เจ้าของผลิตภัณฑ์ วราพรผ้าคลุมกระดาษทิชชู่ เปิดเผยว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าคลุมกล่องกระดาษทิชชูเป็นการพัฒนาแนวคิดสร้างสรรค์ของชุมชนที่พัฒนาขึ้นใหม่เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์จากผ้าและมีคุณค่าสวยงามมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองมีหลายรูปแบบเช่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตามขนาดของตัวกล่อง โดยถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาเป็นฐานความรู้กลับคืนสู่ท้องถิ่น เกิดการสืบทอดและพัฒนาเครือข่ายความรู้ต่อไปให้คนในชุมชน


นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในปัจจุบันแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์อยู่ในระยะเริ่มต้นยังไม่มีการกำหนดนิยามและขอบเขตของการพัฒนาที่ชัดเจนตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนพื้นฐานของการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม ประเพณีและภูมิปัญญาเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน ได้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการสร้างมูลค่าเพิ่มและเชื่อมโยงภาคการผลิตและการบริการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรมและสามารถพัฒนาแบบยั่งยืนสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีค่ามหาศาล วัฒนธรรมจึงเปรียบเสมือนต้นน้ำของอุตสาหกรรมการสร้างสรรค์โดยเราสามารถนำเรื่องราวของวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น มาสร้างความโดดเด่นหรือจุดขาย สามารถทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศ