พช.จันทบุรี ลงพื้นที่ให้กำลังใจผู้ประกอบการนำร่อง“ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”

พช.จันทบุรี ลงพื้นที่ให้กำลังใจผู้ประกอบการนำร่อง ผู้สานพระปณิธาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ประยุกต์ลายผ้าพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”

🗓วันที่ 11 มีนาคม 2564 เวลา 10.00 น. นายอดิศร สุทธิเลิศ พัฒนาการจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยนายธนู อนัญญพร ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่ให้กำลังใจและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานการประยุกต์ลายผ้าพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ของกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ (OTOP) จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มนำร่องในการประยุกต์ลายผ้าพระราชทาน ณ พื้นที่อำเภอเมืองจันทบุรี และอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเสื่อบ้านท่าแฉลบ “เสื่อจันทบูร” ตำบลท่าแฉลบ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี 2.กลุ่มผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ “Beloved batik” ตำบลพลอยแหวน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี 3.ร้านธัญญมณี ตำบลวัดใหม่ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี

ด้วยเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 จังหวัดจันทบุรี โดยนายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้จัดพิธีมอบแบบลายผ้ามัดหมี่พระราชทาน ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา แก่หน่วยงาน องค์กร เครือข่าย และกลุ่มผู้ผลิตผู้ประกอบการประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย จังหวัดจันทบุรี จำนวนทั้งสิ้น 14 กลุ่ม/ราย ประกอบด้วย 1. ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดจันทบุรี 2. ประธานเครือข่าย OTOP จังหวัดจันทบุรี 3. กลุ่มผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ 4. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเสื่อบ้านท่าแฉลบ และ 5. พัฒนาการอำเภอ จำนวน 10 อำเภอ นับเป็นจุดเริ่มต้นในการจุดประกายความคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม/ราย

เวลา 10.00 น. ณ ที่ทำการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเสื่อบ้านท่าแฉลบ “เสื่อจันทบูร” เลขที่ 132 หมู่ที่ 9 ตำบลท่าแฉลบ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี ได้พบกับ นางสาวณิชชากัญญ์ วงษ์จีนเพชร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเสื่อบ้านท่าแฉลบ “เสื่อจันทบูร” ซึ่งประธานกลุ่มฯ เปิดเผยว่า นับจากวันที่ได้มอบแบบลายผ้าพระราชทาน ทางกลุ่มก็ได้มีการพูดคุยหารือกันในการแกะแบบเพื่อทอเป็นผลิตภัณฑ์จากเสื่อกกตามที่กลุ่มถนัด ซึ่งทุกลวดลายล้วนมีความหมายและทรงคุณค่า อาทิ ลาย S หมายถึง Sirivannavari สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ลาย S จำนวน 10 แถว หมายถึงพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึงความรักที่พระองค์มีต่อประชาชนชาวไทยทุกคน = Eternity Love นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบลวดลายที่มีความร่วมสมัย จุดประกายแนวคิดให้เราสามารถยกระดับการผลิตผลงานที่ก้าวสู่ระดับสากลมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันทางกลุ่มได้ผลิตผลิตภัณฑ์เสื่อกกลายพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แล้วจำนวน 3 ประเภทชิ้นงาน อาทิ กระเป๋าถือรูปแบบต่างๆ ,กล่องใส่กระดาษทิชชู ,ปกสมุด และขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับกลุ่มเรื่องการผลิตเป็นผลงานรูปแบบอื่นๆ อีก ทั้งนี้ การดำเนินงานของเราได้มีการส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่ได้มาร่วมฝึกการทอเสื่อ เพื่ออนุรักษ์สืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น “เสื่อจันทบูร” อีกด้วย

 

เวลา 11.00 น. ณ บ้านเลขที่ 25/1 หมู่ที่ 3 ตำบลพลอยแหวน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ได้พบกับ นางสาวจิราวรรณ คงเจริญ ผู้ประกอบการกลุ่มผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ “Beloved batik” โดยนางสาวจิราวรรณ คงเจริญ ได้เล่าถึงแนวคิดในการนำลายผ้าพระราชทานมาประยุกต์กับผ้าบาติก ซึ่งเป็นเทคนิคการทำผ้าบาติกที่กลุ่มมีความชำนาญ ผสมผสานกับการออกแบบลวดลายต่าง ๆ รังสรรค์ด้วยการเขียนเทียนลงบนผืนผ้า และย้อมสีธรรมชาติด้วยดินเขาพลอยแหวน ผลิตเป็นผ้าคลุมไหล่ และผ้าเอนกประสงค์

 

ต่อมาเวลา 13.00 น. ณ ร้านธัญญมณี ถนนศรีจันทร์ ตำบลวัดใหม่ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี ได้พบกับ นางสุภาพร นิยมกิจ ผู้ประกอบการร้านธัญญมณีและประธานเครือข่าย OTOP จังหวัดจันทบุรี ซึ่งนางสุภาพร นิยมกิจ กล่าวว่า ปัจจุบันทางร้านธัญญมณี ได้มีการออกแบบสร้อยลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ด้วยอัญมณีแท้ โดยช่างฝีมือคุณภาพ ซึ่งชิ้นงานแรกเป็นการผลิตสร้อยทองคำประดับพลอยลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และขณะนี้เรากำลังอยู่ระหว่างการออกแบบและคัดสรรอัญมณีที่เป็นอัตลักษณ์ของเมืองจันท์ชนิดอื่นๆ มาผลิตชิ้นงานอยู่ โดยจะรีบผลิตผลงานออกมาให้ทุกท่านได้รับชมกันอย่างแน่นอน

ในการนี้ นายอดิศร สุทธิเลิศ พัฒนาการจังหวัดจันทบุรี ได้กล่าวชื่นชมและขอบคุณผู้ประกอบการทุกกลุ่ม ที่เป็นต้นแบบการสร้างสรรค์พัฒนาลายผ้าพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” และร่วมเป็นต้นแบบผู้สืบสานพระราชปณิธาน “สมเด็จพระพันปีหลวง” และพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งมีพระราชประสงค์ให้ภูมิปัญญาผ้าไทยดำรงอยู่คู่กับแผ่นดินไทย สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้สู่ชุมชน ช่วยทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความมั่นคงและเข้มแข็ง และรักษาคุณค่าภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ ที่แสดงถึงประเพณีวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดไม่ว่าจะเป็นอัญมณี และเสื่อกกให้คงอยู่ตลอดไป และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยินดีสนับสนุนทุกกลุ่มในการดำเนินงานการผลิต เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานของกลุ่มให้แพร่หลายเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด และสร้างรายได้แก่ประชาชนชาวจันทบุรีอย่างต่อเนื่อง

เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ภายในปี 2565

Change for Good

ภาพ /ข่าว : สนง.พช.จันทบุรี