สุรินทร์   ผู้ว่าฯนำนักท่องเที่ยวและชาวสุรินทร์ร่วมสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน

สุรินทร์   ผู้ว่าฯนำนักท่องเที่ยวและชาวสุรินทร์ร่วมสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน พร้อมเชิดชูผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เสน่ห์ผ้าไหมสุรินทร์ฝีมืองานหัตถศิลป์ช่างทอในชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัดวิถี ร่วมสืบสานวัฒนธรรมที่ดีงาม “นุ่งผ้าไทย ใส่บาตรบนหลังช้าง” สุดคึกคัก

วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ หนุนกิจกรรม “นุ่งผ้าไทย ใส่บาตรบนหลังช้าง” ซึ่งจัดขึ้นทุกเช้าวันเสาร์ และถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่จังหวัดสุรินทร์ได้ร่วมการรณรงค์สวมใส่ผ้าไทย ผ้าไหมพื้นเมืองสุรินทร์เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ภายใต้โครงการ สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน และสนองพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในกิจกรรม “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้มติ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่กรมการพัฒนาชุมชนรับมาดำเนินการภายใต้การส่งเสริมค่านิยมไทย ให้ทุกคนทุกช่วงวัย ร่วมใช้และสวมใส่ผ้าไทยให้ร่วมสมัยในทุกโอกาส ทั้งนี้จังหวัดสุรินทร์ ได้บูรณาการกิจกรรมดังกล่าวเพื่อส่งเสริมเผยแพร่อัตลักษณ์ผ้าไทย ผ้าไหมพื้นเมืองอันทรงคุณค่าภูมิปัญญางานหัตถศิลป์ของคนสุรินทร์ ให้เป็นที่ประจักษ์และรับรู้กันอย่างแพร่หลาย


กิจกรรม “นุ่งผ้าไทย ใส่บาตรบนหลังช้าง ทุกวันเสาร์” เป็นกิจกรรมที่จังหวัดสุรินทร์จัดขึ้นเพื่อส่งเสริม สนับสนุนและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมการสวมใส่ผ้าไทย ผ้าไหมพื้นเมืองสุรินทร์ อันเป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัด ที่มีเสน่ห์โดดเด่น สวยงามให้เป็นที่รู้จักควบคู่ไปกับกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในจังหวัดสุรินทร์ กิจกรรมประกอบด้วย

การนุ่งผ้าไทย ผ้าไหมสุรินทร์ ของชาวสุรินทร์และนักท่องเที่ยวที่ร่วมกิจกรรมใส่บาตรบนหลังช้าง
การเลี้ยงอาหารช้าง การลอดท้องช้าง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการเสริมสิริมงคลให้แก่ชีวิต
บริการแท็กซี่ช้าง นั่งช้างชมเมือง”ชม ชิม ช้อป” ตลาดนัดผ้าไหมเมืองสุรินทร์ บริเวณลานหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ ทุกวันเสาร์ “ตลาดเขียว” ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ทุกวันเสาร์ และ “ตลาดกรีนมอ” ที่มีสินค้า OTOP พืชผักผลไม้ อาหารปลอดภัยจำหน่ายทุกวันอาทิตย์ บริเวณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์
ในโอกาสเดียวกันนี้
นายวสันต์ ชิงชนะพัฒนาการจังหวัดสุรินทร์ ได้ส่งเสริม สนับสนุนให้บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดสุรินทร์ นำกิจกรรมตามภารกิจและผลิตภัณฑ์
OTOP ของดีในชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ในพื้นที่อำเภอเมืองสุรินทร์ ร่วมจัดแสดงและจำหน่าย ประกอบด้วย
ผลผลิตทางการเกษตร อาทิ พืชผัก ผลไม้อาหารปลอดภัย


ผลิตภัณฑ์สินค้า แปรรูป อาทิ “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ผ้าไหมพื้นเมืองสุรินทร์ และเครื่องจักสานหวาย สำหรับผู้สนใจและนักท่องเที่ยวซื้อหานำไปสวมใส่และใช้ในกิจกรรมนุ่งผ้าไทย ใส่บาตรบนหลังช้าง และนำเป็นของฝากของที่ระลึก
ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน อาทิ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว นำเสนอข้อมูลของดีชุมชน และเส้นทางท่องเที่ยวในชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เพื่อเชื่อมโยงกิจกรรมท่องเที่ยวภายในชุมชนที่มีความโดดเด่นตามอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น สู่เส้นทางท่องเที่ยวภายในจังหวัดและภายนอกจังหวัด


♦️ ทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อหนุนเสริมการทำงานในรูปแบบการบูรณาการความร่วมมือ 7 ภาคี ในกิจกรรมดังกล่าวให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมและมีความหลากหลาย น่าสนใจ สามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมกิจกรรมและนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งหนุนสร้างเศรษฐกิจในจังหวัดสุรินทร์ให้เข้มแข็ง นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ และกระจายรายได้กลับสู่ชุมชนท้องถิ่นให้มีกินมีใช้หลายครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย

Change for Good #CDD

📸 📣 ภาพ/ข่าว พัฒนาชุมชนจังหวัดสุรินทร์ : รายงาน