ปทุมธานี สัมผัสวิถีชีวิตรามัญงานโกนจุกเด็กมอญปทุมธานี

สัมผัสวิถีชีวิตรามัญงานโกนจุกเด็กมอญปทุมธานี
เมื่อเวลา 8.00 น.วันที่ 26 ก.พ.2564 ชุมชนคุณธรรมฯวัดสิงห์ ร่วมกับพุทธศาสนิกชนอำเภอสามโคก จัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรเนื่องในวันมาฆบูชา ณ วัดสิงห์ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี พระครูฎีกาอรรถพล อนุจารี เจ้าอาวาสวัดสิงห์ เป็นประธานในพิธีโกนผมจุก ให้แก่เด็กที่มีอายุครบการโกนผม ซึ่งเป็นการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีของชาวมอญ จังหวัดปทุมธานี โดยมีนางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี พุทธศาสนิกชน ร่วมสืบสานประเพณี ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19)


ชาวมอญสมัยก่อนนิยมที่จะให้บุตรหลานของตนไว้จุกสาเหตุเพราะมีการเชื่อกันว่าบุตรหลานของตนจะอยู่เย็นเป็นสุขหรือเป็นการรักษาโรคอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เด็กมีร่างกายไม่แข็งแรงเจ็บป่วยบ่อย พระสงฆ์หรือผู้เฒ่าผู้แก่มักแนะนำผู้ปกครองให้ไว้จุกแก่บุตรหลานเพื่อให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง เมื่อเด็กแรกเกิดมีอายุครบ 1 เดือนจะต้องโกนผมไฟ (โซ่กโก๊ะ)
หลังจากนั้นถ้าผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานไว้จุกก็เริ่มได้เลย ก็คือจะเก็บผมตรงกลางของศีรษะคอนมาทางด้านหน้าเล็กน้อยแล้วโกนผมส่วนที่เหลือทั้งหมดออก การโกนผมจุก (จอแหละโป๊ะ) จะโกนเมื่อเด็กอายุได้ 13 ขวบต่อมาในสมัยหลังๆมีการอนุโลมให้จัดพิธีโกนจุกขึ้นตามความจำเป็นและเหมาะสมของสภาพสังคม เช่นเพื่อตัดจุกเมื่อเด็กต้องการเข้าเรียนเป็นต้นเด็กผมจุกในสมัยนี้จะต้องโกนจุกเร็วขึ้นโดยสามารถโกนได้ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ 5 ขวบ 7ขวบ 9 ขวบ ถึง 11 ขวบข้อสำคัญของพิธี คือในวันที่โกนจุก ต้องไม่มีสมาชิกในครอบครัวคนหนึ่งคนใดตั้งครรภ์ และต้องบอกญาติทุกคนร่วมรับรู้ และให้มาร่วมงาน เป็นพิธีกรรมที่ยึดถือปฏิบัติกันมาแต่สมัยโบราณ ปัจจุบันเหลือน้อยลง เป็นพิธีที่ทำเพื่อให้พ่อแม่เด็กมีขวัญและกำลังใจในการเลี้ยงลูก

โดยวันนี้มีการโกนจุกแบบมอญเป็นเด็กผู้หญิงฝาแฝดคือ เด็กหญิงสาธิตา ต้นสมปลาย (น้องเพชร) เด็กหญิงสุชาดา ต้นสมปลาย(น้องพลอย) ที่เดินทางมาโกนจุกจากจังหวัดบุรีรัมย์ พ่อแม่บางท่านก็นำลูกน้อยสวมใส่ชุดไทย หรือเด็กบางคนก็ใส่ชุดปกติธรรมดา แต่ที่สำคัญบนศีรษะของเด็กๆเหล่านั้นจะไว้จุก เด็กน้อยบางคนถูกแค่ตัดเส้นผมเท่านั้น จากที่เคยสดชื่นเริงร่าก็น้ำตาร่วงหล่น ปากแบะ.ร้องไห้จ้าด้วยความกลัว ส่วนช่วงเย็นจะมีการจุดประทีปและเวียนเทียนเนื่องในวันมาฆบูชาภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19


น.ส.ฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า งานโกนจุกของชาวมอญ ถือเป็นการสืบสานวัฒนธรรมอันเก่าแก่ บ่งบอกถึงวิถีชีวิตชาวมอญได้เป็นอย่างดี เห็นถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรมที่ได้มุ่งเน้นการดำเนินการตามนโยบาย โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ มีภาพลักษณ์ ความสัมพันธ์ที่ดี และได้รับการยอมรับในเวทีทางวัฒนธรรมระดับสากล