อาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ริเริ่มนวัตกรรมเจลลี่โภชนาการ อาหารสำหรับผู้มีปัญหาการเคี้ยวและการกลืน

 

อาจารย์ดุลยพร ตราชูธรรม รางวัลอาจารย์ตัวอย่างประจำปี 2563 สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ผู้ริเริ่มนวัตกรรมเจลลี่โภชนาการ อาหารสำหรับผู้มีปัญหาการเคี้ยวและการกลืน

รองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ.ดุลยพร ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จบการศึกษาจากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกทันตแพทยศาสตร์ จากมูลนิธิอานันทมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินทางไปศึกษา Biomedical sciences ด้าน Pharmacology และ Postdoctoral research fellowship ด้าน Cancer Research จาก University of Texas Health Science Center at Houston ประเทศสหรัฐอเมริกา และจบประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขา Nutritional Science for Health Professionals จาก Tuft University ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยผลงานวิจัยเกี่ยวกับยารักษามะเร็งที่ทำมาจากพืชตระกูลกะหล่ำ และความรู้ทางด้านทันตกรรม ทำให้อาจารย์ดุลยพร สนใจเรื่องอาหารและโภชนาการ กับการป้องกันมะเร็ง และบทบาทของสุขภาพช่องปากต่อภาวะโภชนาการ จึงดำเนินงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารต่างๆ เพื่อส่งเสริมโภชนาการและความปลอดภัยอาหาร ลดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น มะเร็ง เป็นต้น

อาจารย์ดุลยพร เล่าว่าผู้ที่ได้รับทุนจากมูลนิธิอานันทมหิดลนั้นควรจะนำเอาความรู้ที่ได้กลับมาทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น และประเทศชาติต่อไป และการได้มีโอกาสในการทำงานสนองคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้วยการดำเนินการวิจัยและเผยแพร่นวัตกรรม “เจลลี่โภชนา” ตามโครงการ “อาหารพระราชทานสู่ประชาชน” โดยมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กรมการแพทย์ และ บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ซึ่งการทำงานในครั้งนั้นนอกจากเป็นความภูมิใจสูงสุดแล้ว ตนยังได้หลักการของทำงานมาด้วย ได้แก่ 1. เห็นต้นแบบที่ดีของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ คือ ค้นคว้า-ปฏิบัติ-พัฒนา โดยนักวิจัยที่ดีต้องค้นคว้าวิจัยแล้วนำไปใช้ จากนั้นรับฟังเสียงตอบรับเพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น 2. งานวิจัยจะต้องสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป และ 3. งานวิจัยเกิดจากการบูรณาการศาสตร์หลากหลายสาขา ทำให้เราต้องเปิดกว้าง ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความเข้าใจในภาพรวม รวมทั้งยังเป็นการสร้างสมประสบการณ์และความรู้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

จากความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ร่วมถึงสถานการณ์ของโรคระบาดในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนของสถาบันฯ ต้องมีการปรับตัว เพราะในปัจจุบัน ผู้เรียนต้องการความรู้และประสบการณ์จากการเรียนเพื่อไปใช้ในการทำงาน หรือใช้ในชีวิตประจำวันมากกว่าการได้วุฒิการศึกษา ดังนั้น ทิศทางในการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอน อันดับแรกเราต้องศึกษาถึงความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ บัณฑิตที่จบไปแล้ว ผู้ใช้บัณฑิต และนักศึกษาปัจจุบันว่าต้องการอะไรจากการเรียนหลักสูตร ต้องการบัณฑิตที่มีความรู้ด้านไหน ทำงานอะไร เพื่อนำมาปรับปรุงหลักสูตร อันดับสองคือ ต้องเปิดกว้างและขยายโอกาสทางการศึกษาให้ผู้ที่ต้องการ อย่างเช่นการเปิดหลักสูตร MAP-C ที่เปิดให้บุคคลภายนอกมาเรียนร่วมกับนักศึกษา (Life Long Learning) การเปิดปริญญาโทภาคพิเศษสำหรับคนทำงาน และการเปิดหลักสูตรออนไลน์ระยะสั้นตามโครงการ MAP-Ex เรื่องสารก่อมะเร็งในอาหาร สำหรับบุคคลทั่วไปไม่จำกัดวุฒิ ที่ต้องการ Re-Skill หรือ Up-Skill เพื่อนำเอาความรู้ไปปรับใช้กับงานที่ทำหรือชีวิตประจำวัน อันดับสามคือ หลักสูตรในปัจจุบันควรประยุกต์ใช้ได้กับหลากหลายอาชีพ ร่วมถึงการนำมาใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังเช่นสาขาพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัยที่นำความรู้มาใช้ได้จริง และสุดท้าย อาจารย์ผู้สอนเองจะต้องปรับตัวกับการสอนออนไลน์ จะสอนอย่างไรให้เหมือนในห้องเรียน โดยส่วนตัวนำเอาเทคนิคต่าง ๆ มาใช้ อาทิ การตั้งคำถามแบบ Buzz Session เพื่อให้แต่ละคนแสดงความคิดเห็น การเปิดโอกาสให้สอบถามผ่าน Chat เทคนิคการเล่นเกม Kahoot เกมที่ ช่วยให้นักศึกษาสนุกกับการเรียน และเป็นเครื่องมือช่วยในการประเมินผล โดยผ่านการตอบคำถาม การอภิปราย หรือการสำรวจความคิดเห็น การใช้สื่อวีดีโอ Animation รูปภาพ และ Case Study เป็นสื่อในการเรียน การสอน เป็นต้น ซึ่งพบว่านอกจากกระตุ้นการเรีบนรู้แล้ว ยังช่วยให้นักศึกษาจดจำและประยุกต์ใช้ได้ดีกว่าการบรรยายอย่างเดียว

จากการทำงานในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ การดำเนินโครงการวิจัยและงานบริการวิชาการต่าง ๆ อาจารย์ดุลยพร มีหลักในการครองตน ครองคน ครองงาน ดังนี้ 1. ใส่ใจกับทุกงาน ไม่ว่างานนั้นจะเป็นงานของเรา ของเพื่อน หรือของส่วนรวม เพื่อมอบหมายงานให้เหมาะสมกับความสามารถและเวลาของเราและเพื่อนร่วมงาน ใส่ใจรายละเอียดในงาน เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น 2. บริหารเวลา สำคัญมากสำหรับอาจารย์นักวิจัย ที่มีทั้งหน้าที่สอน วิจัย บริการวิชาการ รวมถึงงานด้านบริหาร จึงต้องจัดสรรเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ต้องไม่ลืมเวลาผ่อนคลายสำหรับตัวเอง แบบ Work Life Balance 3. สร้างตัวตนให้มีค่า เริ่มจากการที่เราต้องรู้ค่าของตนเองว่า เราถนัดและมีความสามารถด้านไหน และเราจะนำความสามารถนั้นมาก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นได้อย่างไร และ 4. ร่วมพัฒนาองค์กร มหาวิทยาลัยจะเติบโต และทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้นั้น เกิดมาจากคนในองค์กรนั้นสร้างขึ้นมา ทุกคนในองค์กรจึงต้องการรับฟังกันและกัน ร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนางาน

รางวัลอาจารย์ตัวอย่าง ประจำปี 2563 สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่ได้รับครั้งนี้ ถือเป็นกำลังใจในการทำงานของตนเองให้ดียิ่งขึ้น ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปสู่สังคม โดยอาจารย์จะบอกนักศึกษาเสมอว่า ขอให้ตักตวงความรู้และประสบการณ์จากอาจารย์ให้เต็มที่ เพื่อนำเอาความรู้เหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ต่อไป ทั้งนี้ ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยมหิดลที่กำหนดรางวัลอาจารย์ตัวอย่างนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นกำลังใจให้กับอาจารย์อีกหลาย ๆ ท่าน เป็นต้นแบบและกำลังใจให้อาจารย์รุ่นน้อง ได้เห็นแนวคิด วิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในการทำงาน ร่วมถึงสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้นต่อไป