รมช.ศธ.ลงพื้นที่ตามติดชีวิต Idol กศน. เมืองดอกบัวและเยี่ยมชมสินค้าที่พัฒนาโดยศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน กศน.ปทุมธานี
เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 8 ก.พ.2564 ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่เยี่ยมศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนคนปทุมธานี อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เยี่ยมชมสินค้าที่พัฒนาโดยศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน กศน.ปทุมธานี และตามติดชีวิต Idol กศน. เมืองดอกบัว(นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี)เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ และการใช้ชีวิต โดยมีนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายพิษณุ พลธี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี พรรคภูมิใจไทย นายสมชาย ตรีณาวงษ์ นายอำเภอหนองเสือ นางวิบูลผล พร้อมมูล ผู้อำนวยการ สำนักงาน กศน.จังหวัดปทุมธานีหัวหน้าส่วนราชการให้การต้อนรับ
ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ ของIdol กศน. เมืองดอกบัว พูดคุยสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อชีวิตการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตของนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผวจ.ปทุมธานี มุมมองผู้ว่าฯปทุมธานี ที่มีต่อการศึกษาไทย และมุมมองต่อการศึกษานอกระบบในอดีต – ปัจจุบัน
โดยนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี หรือชาวบ้านเรียก “พ่อบักตาว” เกิดและเติบโตที่บ้านบุงคล้า หมู่ 5 ต.วังสะพุง อ.วังสะพุง จ.เลย เรียนจบชั้นประถม 6 ที่โรงเรียนชุมชนวังสะพุง จากนั้นไม่ได้เรียนต่อเพราะฐานะที่บ้านยากจนแต่ด้วยความพยายามก็ขวนขวายด้วยการไปเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ภาคค่ำ หรือ กศน. จนได้วุฒิ ม.3จากนั้นก็เข้าสู่รั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพากเพียรจนจบคณะรัฐศาสตร์บัณฑิตด้วยจบเกียรตินิยมอันดับ 2 และเริ่มต้นชีวิตการทำงานสายข้าราชการที่กรมการปกครอง พร้อมศึกษาต่อจนจบหลักสูตรนายอำเภอ, หลักสูตรนักปกครองระดับสูง, การเมืองการปกครองหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ ก่อนไต่เต้ามาจนได้กลับมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดในที่สุด จนเป็นIdolในการสู้ชีวิตของใครหลายๆคน
นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยถึงชีวิตที่ผ่านมาว่า “ใช้คำว่ายากจนน่าจะเหมาะที่สุด เพราะตอนเด็กๆ เราทำทุกอย่างที่คิดว่า เอาชีวิตให้รอด เพราะที่บ้านก็ยากจน ตอนเรียนประถม ต้องพยายามหาเงินทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นช่วยแม่ขายข้าวแกง ขายข้าวต้มมัดหรือเก็บเม็ดมะขามมาคั่วขาย พอตอน ป.6 ก็ไม่ได้เรียนหนังสือต่อ
เพราะไม่มีเงินพอที่จะเรียนหนังสือได้ ก็ไปเป็นกระเป๋ารถเมล์”ต้องทำงานสารพัด เพื่อยังชีพและเพื่อให้มีเงินเรียนหนังสือต่อ ไม่ใช่แค่เป็นกระเป๋ารถเมล์อย่างเดียว แต่ปั้นอิฐก็ทำมาแล้ว เคยปั่นสามล้อรับจ้างทำหมดทุกอย่าง รวมทั้งต้องไปขอวัดอยู่ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เผื่อจะมีเงินเหลือไว้เรียนหนังสือ “พอเก็บเงินได้สักพักหนึ่งก็ไปลงเรียน กศน.และสอบเทียบไปด้วย พอสอบเทียบ ม.3 ได้ เรียน กศน.จบ ม.3 ก็ไม่มีเงินอยู่ดีที่จะไปเรียนต่อมัธยมปลาย ก็เลยมาลองเปลี่ยนอาชีพดูว่า เอ๊ะ ถ้าเรามาปั่นสามล้อ และไปขอหลวงพ่ออยู่วัด จะทำให้เราพอเรียนต่อได้ไหม ก็ปรากฏว่าโชคดีที่ ม.ปลาย เขามีภาคค่ำด้วย ก็ไปเรียนที่โรงเรียนเลยพิทยาคม แต่เป็นโรงเรียนภาคค่ำ กลางวันก็ปั่นสามล้อ แต่ค่าที่พักไม่ต้องเสีย เนื่องจากว่าไปอาศัยอยู่วัดเลยหลง(วัดศรีสุทธาวาสฯ) พอมีค่าเทอมมีเงินใช้จนจบ ม.6 พอจบ ม.6 แล้ว ก็คิดว่าชีวิตการเรียนคงจบแค่นั้น” “หลังจบ ม.6 เผอิญได้ครูประเสริฐศรีแนะนำว่า เธอลองไปสมัครทุนจุฬาชนบทดู เผื่อสอบได้ เพราะทุนจุฬาชนบทนี้ ให้ทั้งค่าเรียนทั้งค่าใช้จ่ายประจำเดือน ก็ปรากฏว่า สอบได้ ก็เลยได้เข้าไปเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เรียนย้ำว่า ถ้าไม่มีทุนจุฬาชนบท ก็ไม่มีผมในวันนี้” เพราะการศึกษาสร้างคน เพื่อให้คนสร้างชาติ นี่คือความในใจของIdol กศน. เมืองดอกบัว(นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี)
จากนั้นดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เดินเยี่ยมชมสินค้าที่พัฒนาโดยศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน กศน.ปทุมธานี อาทิ สไบมอญ กล้วยหอมทองพันล้าน ฝรั่งกิมจูเกษตรธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา (ปุ๋ย/ตะกร้าสาน) ผลิตภัณฑ์กระเป๋าหนัง ผลิตภัณฑ์ปลาดุกแปรรูป ผลิตภัณฑ์จากผ้ามัดย้อม ผลิตภัณฑ์ผ้าด้นมืออาหารขนมขึ้นชื่อเมืองปทุม (เมี่ยงคำกลีบบัวหลวง/ขนมเปี๊ยะไส้ถั่วแดง) กาละแมรวงข้าวโดยดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ได้ร่วมกวนกาละแมและทอดกล้วยหอมเงินล้านกับผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีโชว์อีกด้วย