อธิบดี พช.น้อมนำพัฒนาคือสร้างสรรค์ ปลุกพลังสร้างอุดมการณ์พัฒนากร ร่วมใจ มุ่งมั่น เป็นแสงสว่างสานประโยชน์สุขสู่ประชาชนอย่างยั่งยืน
วันที่ 28 มกราคม 2564 เวลา 08.30น.
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานการเปิดโครงการฝึกอบรมพัฒนากรระหว่างประจำการ ด้านบริหารการเปลี่ยนแปลง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 โดยมี นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายอาจณรงค์ สัตยพานิช หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม (พช.) นายธนวัฒน์ ปิ่นแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน และผู้บริหาร ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน เข้าร่วม ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล VDO Conference ระบบ ZOOM Cloud Meetings ไปสู่นักวิชาการพัฒนาชุมชน (พัฒนากร) ระหว่างประจำการ ใน 76 จังหวัด จำนวน 3,640 คน ณ ห้องประชุม 5001 ชั้น 5 กรมการพัฒนาชุมชน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานคำขวัญ เนื่องในวันพัฒนา เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2531 ความว่า “พัฒนาคือสร้างสรรค์” เป็นนิยามแนวทางการปฏิบัติตน และปฏิบัติภารกิจของนักพัฒนา ให้บังเกิดประโยชน์สุขต่อพี่น้องประชาชน ชุมชนอย่างแท้จริง พวกเราเหล่านักพัฒนาชุมชน หรือพัฒนากร จงภาคภูมิใจที่ต่างได้สนองงานตามพระราชปณิธานและพระราชหฤทัยอันแน่วแน่แห่งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในการทรงงานเพื่อจะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่าง ๆ สืบไป
พัฒนากรนั้นเป็นบุคคลสำคัญในการนำพาอุดมการณ์พัฒนาให้เกิดรูปธรรม เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นทุกท่านจึงต้องมีความเพียรพยายามบวกกับทัศนคติที่ดีอยู่เสมอ ต้องรู้และเข้าใจบทบาทภารกิจของตน แม้จะเห็นว่ามีความหลากหลาย แต่หากพินิจเชื่อมโยงให้ดีแล้วจะพบว่าคำตอบหรือหัวใจของผลสัมฤทธิ์คือการสรรค์สร้างประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน และประเทศของเรา ขอชื่นชมในการทุ่มเท อุทิศตนในการทำงานของพัฒนากรทุกท่านทุกระดับ ซึ่งเป็นดังการตอกย้ำในอุดมการณ์แห่งการพัฒนาให้มีภาพที่ชัดเจนขึ้นในใจพี่น้องประชาชน และสังคม ปรัชญาของการพัฒนาชุมชนคือความเข้าใจว่าแม้มนุษย์จะแตกต่างกันตามบริบทสังคม แต่มีความเสมอภาคในสิทธิและโอกาสที่จะก้าวหน้า ทุกท่านจึงต้องตั้งมั่นในศรัทธาและแรงบัลดาลใจที่อยากเห็นพี่น้องประชาชนอยู่ดีมีสุข และเจริญก้าวหน้า อยู่เสมอ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีปาฐกถาพระราชนิพนธ์การศึกษากับการพัฒนา อันเกี่ยวเนื่องสมควรน้อมนำมาเป็นหลักคิดปรับประยุกต์ในการทำงานพัฒนา คือ การมีเป้าหมายวิสัยทัศน์ในการพัฒนาที่ชัดเจนกว้างขวาง ไม่ใช่เพียงการส่งเสริมพัฒนาเพียงด้านใดด้านเดียว การพัฒนาต้องมุ่งหวังให้เกิดความมั่นคงยั่งยืน ตัวอย่างเช่นการส่งเสริมองค์ความรู้ การศึกษา ต้องหล่อหลอมให้บุคคลเกิดสิ่งที่ดีในชีวิต เช่น วุฒิปัญญา คือ ความรู้ที่ประกอบด้วยธรรมนำไปสู่ความเจริญงอกงามในชีวิต จิตปัญญา คือ การมีจิตใจดี มุ่งมั่น ใฝ่ธรรมเอื้อเฟื้อต่อสังคม พลปัญญา คือ การสร้างเสริมสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง เป็นต้น ฉะนั้นแล้ว ทักษะที่พึงมีของพัฒนากรคือต้องเป็นผู้ใฝ่รู้ รอบรู้ ขอให้หมั่นศึกษา จากทุกช่องทาง ทุกรูปแบบ เพิ่มพูนศักยภาพ บุคลิกในการทำงานได้เป็นอย่างดี ประการต่อมาคือ ทักษะในการสื่อสารที่ดี มีทักษะในนำเสนอสร้างแรงจูงใจที่ดีสู่สังคม การสื่อสารที่ดีไม่เพียงด้วยวาจา แต่ต้องประกอบด้วยการแสดงออก ต้องปฏิบัติตนเป็นต้นแบบที่ดี ทำให้รู้ ทำให้เห็น จึงจะสามารถสร้างความมั่นใจ เชื่อใจ และได้ใจจากพี่น้องประชาชน
โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวชื่นชมพัฒนากรว่า “ดูบุคลิกและแววตารู้สึกได้เลยว่าพัฒนากรไม่เหมือนข้าราการอื่น เพราะมีแววตาเอื้ออาทรและกุลีกุจอไปช่วยชาวบ้านก่อนใคร” จึงเป็นการการันตีถึงคำกล่าวที่ว่า พัฒนากรเป็นผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ มีบุคลิกลักษณะเป็นมิตรกับชาวบ้าน เดือดร้อนใจแทนชาวบ้าน พัฒนากรเป็นศรัทธาที่เดินได้ กรมการพัฒนาชุมชน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2505 มาจนถึงปัจจุบันย่างก้าวสู่ปีที่ 60
งานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต การส่งเสริมความเข้มแข็งของฐานราก ชุมชน ท้องถิ่น ก็ยังคงมีให้ดำเนินการอยู่เสมอ ไม่ได้ลดลงหรือหายไป แต่ยังคงเข้มข้นหลากหลายขึ้น โดยกลไกหลักที่จะนำสู่ความสำเร็จก็คือพัฒนากร ที่เปรียบเสมือนตัวแทนของกรมการพัฒนาชุมชน งานของพวกเราจึงเป็นงานที่มีคุณค่า สร้างคนให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ช่วยเหลือตนเองได้ สร้างความมั่นคงให้กับประเทศ อย่างไรก็ดีขอเน้นย้ำว่า แม้ปัจจุบันจะมีความเจริญก้าวหน้า มีตัวช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานมากมาย แต่พัฒนากรที่ดี อย่าได้ละทิ้งหลงลืมตัวตนในจิตบริการ ที่ได้วางรากฐานมาอย่างยาวนาน คือ เท้าติดดิน ใกล้ชิดชาวบ้าน เลี่ยงเสียจากการเป็น “พัฒนากรมือถือ” หมั่นลงพื้นที่เป็นเพื่อนร่วมคิด ร่วมทำ สร้างความรักสามัคคีให้กับชุมชน ตลอดจนรู้จักบูรณาการทั้ง 7 ภาคี คือ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคศาสนา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน สานสัมพันธ์ทุกทิศทาง
กรมการพัฒนาชุมชน น้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นหัวใจสู่การปรับประยุกต์เชื่อมโยงในทุกภารกิจให้สอดรับ “SEP for SDGs” SEP Sufficiency Economy Philosophy คือ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องที่สอดประสานกับ SDGs Sustainable Development Goals คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน องค์การสหประชาชาติ (UN) และมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการมุ่งพัฒนา สร้างความสมดุลในมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม พัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน เราต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ศึกษาอย่างถ่องแท้และน้อมนำศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาเป็นกระบวนทัศน์ในการทำงาน บันไดทั้งสามขั้นนี้ จะทำให้ชุมชนมีความเป็นเจ้าของและนำไปสู่ความยั่งยืนของการพัฒนาในที่สุดบันไดทั้ง 3 ขั้นนี้มุ่งไปสู่การพัฒนาให้ชุมชนมีความเป็นเจ้าของและนำไปสู่ความยั่งยืนในที่สุด
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวทิ้งท้ายว่า “ขอให้อุดมการณ์ในการพัฒนาอยู่คู่กับดวงใจของพัฒนากรทุกคนตลอดไป เสมือนเปลวเทียนละลายแท่ง เพื่อเปล่งแสงอันอำไพ ให้แสงไฟที่โชติช่วงชัชวาล เป็นแสงสว่างนำทางและให้ความอบอุ่นกับพี่น้องประชาชน เชื่อมั่นว่าด้วยความตั้งมั่นทุ่มเทของพี่น้องนักพัฒนาทุกคนจะบังเกิดผลแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน บำบัดทุกข์ บำรุงสุขสู่พี่น้องประชาชน สร้างเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็ง เป็นของขวัญในโอกาส 60 ปี กรมการพัฒนาชุมชน ได้อย่างแน่นอน”
สำหรับโครงการฝึกอบรมพัฒนากรระหว่างประจำการ ด้านบริหารการเปลี่ยนแปลง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ในรูปแบบออนไลน์ ครั้งนี้ ดำเนินการในระหว่างวันที่ 28 – 30 มกราคม 2564 โดยตลอดทั้ง 3 วัน พัฒนากรระหว่างประจำการจากทั่วประเทศ ทั้ง 3,640 คน จะได้ร่วมเรียนรู้ใน 3 เรื่องหลักสำคัญ คือ การแปลงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ การออกแบบพื้นที่ต้นแบบเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” และเพิ่มพูนทักษะการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้พัฒนากร ซึ่งมีความใกล้ชิดกับประชาชน ผู้นำ กลุ่มองค์กรและภาคีเครือข่ายในทุกภูมิภาค เกิดความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ ยึดมั่นในอุดมการณ์การพัฒนาชุมชน และเกิดสมรรถนะที่ดีในการขับเคลื่อนกระบวนงานสำคัญของกรมการพัฒนาชุมชน
นอกจากนี้ อธิบดีกรมการพัฒนาชุม ได้นำภาพยนตร์สารคดีเกาหลีใต้เรื่องเสียงกู่จากครูใหญ่ มาฉายเพื่อให้ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชนทุกคนใช้เป็นบทเรียนสอนใจในการทำงานพัฒนา โดยเรื่องราวฉายภาพให้เห็นถึงแบบฉบับของนักพัฒนาที่เปี่ยมด้วยอุดมการณ์ ทุ่มเทแรงกาย แรงใจของตน หรือ อตฺตา หิ อตฺโน นาโถ โดยไม่หวั่นเกรงข้อจำกัด หรือรอโอกาส แม้เป็นภาพยนตร์เก่าแต่แง่คิดยังคงร่วมสมัย ครูใหญ่ในเรื่องนี้เปรียบเหมือนเหล่าพัฒนากร บทเรียนแรกของนักพัฒนา คือ หากสร้างศรัทธาไม่สำเร็จ การพัฒนาก็ล้มเหลว ด้วยการพัฒนาเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก ต้องประสานความคิด ประสานจิตใจ มีวิสัยทัศน์ คิดหาจุดเริ่มต้นในการทำงานที่ถูกจุด เมื่อมีเป้าหมายที่แจ่มชัดผลลัพธ์ย่อมเกิดขึ้นได้จริง แม้การสร้างศรัทธาต้องใช้เวลาแต่หากไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ทำให้ดูอยู่ให้เห็น เป็นตัวอย่างที่ดีย่อมมีคุณค่าเสมอ เพราะการทำงานด้วยจิตที่มีธรรมคนจะช่วยมาก ไม่มีธรรมคนย่อมช่วยน้อย ความน่าเชื่อถือจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจ จูงใจให้เกิดจิตสาธารณะในตัวของทุกคนได้ ภาพแห่งความภาคภูมิใจความสำเร็จของทุกๆ คนในสังคม จะหล่อหลอมรวมกัน นำพาประเทศไปสู่ความเข้มแข็งและเอาชนะความยากจนได้นั้นเอง และได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนทุกอำเภอถอดบทเรียน ไว้เป็นเครื่องเตือนใจให้เป็นข้าราชการนักพัฒนาที่ดีต่อไป