พช. จับมือศูนย์ประสานการปฏิบัติที่1(กอ.รมน.)เดินหน้าขับเคลื่อน”โคก หนอง นา โมเดล”

พช. จับมือ ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 (กอ.รมน.) เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการ ‘โคก หนอง นา โมเดล สนับสนุนองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”

วันที่ 25 มกราคม 2564

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ประชุมร่วมกับ พลตรี อุดม โกษากุล ผอ.ศปป.1 กอ.รมน. พลโท กฤตภาส คงคาพิสุทธ์ ที่ปรึกษา ผอ.ศปป.1 กอ.รมน. และคณะเจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 (กอ.รมน.) โดยมีนายนิวัติ น้อยผาง และนายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และคณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน เข้าประชุม ในการสนับสนุนองค์ความรู้และประชุมหารือการดำเนินงาน โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ณ ห้องประชุม 3001 ชั้น3 กรมการพัฒนาชุมชน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวขอบคุณ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล สังกัดคณะคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการขับเคลื่อนงานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติของ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร เป็นผู้เชี่ยวชาญในการขับเคลื่อน โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ตลอดถึง ผู้อำนวยการกลุ่มงานต่างๆ และขอขอบพระคุณ พล.ต. อุดม โกษากุล ผอ.ศปป.1 กอ.รมน. และคณะ ที่กรุณาเยี่ยมเยียนกรมการพัฒนาชุมชน ได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขับเคลื่อนงานในอนาคตต่อไป โดยกรมการพัฒนาชุมชนขอนำเสนอวีดิทัศน์ รายละเอียดภารกิจเกี่ยวกับโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อจะได้เห็นภาพรวมการขับเคลื่อนงาน ตามพระราชดำริ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ได้ทรงพระราชทานภาพฝีพระหัตถ์ จำนวน 1 ภาพ พร้อมข้อความ ความสดใส สดชื่น โคกหนองนา และความสุขและอบอุ่น ในบ้านบนโคกหนองนาก่อให้เกิดความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานตามข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถเป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความชัดแย้งทางสังคมที่เกิดขึ้น

เพื่อเป็นกำลังใจในการขับเคลื่อนงาน ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาล 4,700 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล ในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา ดำเนินการไปแล้วใน 1,500 ครัวเรือน พัฒนาศูนย์เรียนรู้อีก 33 ศูนย์เรียนรู้ มีงบประมาณที่ดำเนินการในปี 2564 ให้กับ 14,000 ครัวเรือน และงบประมาณจากทางรัฐบาลในการอนุมัติโครงการงบเงินกู้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตโควิด ในพื้นที่ 25,179 ครัวเรือน 73 จังหวัด ซึ่งจะเกิดการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับผู้เดือดร้อนที่ตกงานจำนวนไม่น้อยกว่า 9,000 คน เกิดพื้นที่ต้นแบการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งงบประมาณปกติและงบเงินกู้ ไม่น้อยกว่า 35,000 แปลง เกิดการพัฒนาคนเพิ่มชื้นอีกไม่น้อยกว่า 50,000 คน เกิดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชน เอามื้อสามัคคี ที่สร้างความสามัคคีให้แก่ภาคประชาชน จำนวนไม่น้อยกว่า 100,000 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 2,000,000 คน และยังมีแผนรอบที่ 2 อีก 10,000 ครัวเรือน งบประมาณทั้งหลายจะกระจายไปสู่ท้องถิ่น เพราะประกอบด้วยการฝึกอบรมสร้างความเข้าใจ ให้สามารถปฏิบัติได้จริง เข้าใจเหตุและผลของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลักทฤษฎีใหม่

พล.ต. อุดม โกษากุล ผอ.ศปป.1 กอ.รมน. กล่าวขอบพระคุณที่ให้การต้อนรับคณะศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 (กอ.รมน.) โดยพวกเรามีเป้าหมายในการมาครั้งนี้เนื่องจาก ศูนย์ประสานงานการปฏิบัติที่ 1 มีภารกิจหน้าที่เกี่ยวพันกับกรมการพัฒนาชุมชน จึงอยากทราบรายละเอียดการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”


นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพิสูจน์ให้เห็นว่า เศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่ เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ประเทศชาติรอดพันจกวิกฤตและเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ในการพัฒนา “คน” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศษฐกิจพอเพียง การพัฒนา ต้องพัฒนา “คน” ทุกช่วงวัย เป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนา “คน” ภายใต้การสร้างกลไกการขับเคลื่อนระดับนโยบาย ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ ไปจนถึงพี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ ดังนั้นในกิจกรรมที่ 1 การเข้ารับอบรมเพื่อการปรับเปลี่ยน Mindset จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำเนินงาน ในขั้นต่อไป ซึ่งอาศัยความร่วมมือของมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติและภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี เพราะเชื่อว่าการจะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จคนเดียวไปไม่รอด และดีใจเป็นอย่างมากที่ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 (กอ.รมน.) เห็นความสำคัญและมีความสนใจในการร่วมกันขับเคลื่อนงาน เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน

ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของ ครูพาทำ ตามหลักของโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” นั้น ครูพาทำจะต้องมีพื้นที่ที่ดำเนินการจริงหรือทำจริง และต้องผ่านหลักสูตรพื้นฐานตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ หลักสูตร 5 วัน 4 คืน ซึ่งเป็นหลักสูตรพื้นฐาน โดยต้องผ่านการร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคีมาแล้ว ประเด็นต่อมา หลักสูตรการออกแบบพื้นที่ โคก หนอง นา ต้องมีการอบรมเครือข่ายให้มีองค์ความรู้ในการออกแบบตามหลักวิชาชีพ โดยเป็นหลักสูตรอบรม 4 วัน 3 คืน เพื่อที่จะมาช่วยในการให้ความรู้ในการออกแบบตามหลักวิชาชีพ เมื่อผ่านเกณฑ์ดังกล่าวนี้แล้ว จึงจะไปเริ่มหลักสูตรวิทยากรและครูพาทำ ในกรณีประเด็นเรื่องครูพาทำ ถ้าทาง กอ.รมน. มีทีมปราชญ์อยู่แล้วก็สามารถมาร่วมกันบูรณาการโดยเข้าอบรมด้วยกันเพื่อให้เป็นหลักสูตรเดียวกัน เพื่อปรับฐานทำความเข้าใจให้ตรงกันเพราะปราชญ์ชาวบ้านของ พช. และทีม ปราชญ์ของ กอ.รมน. นั้นมีพื้นฐานอยู่แล้วและมีฐานคนในพื้นที่เหมือนกัน ฉะนั้นเมื่อปราชญ์เหล่านี้อบรมเสร็จและกลับไปขับเคลื่อนงานจะมีพลังเป็นอย่างมาก ซึ่งจะทำให้งานในพื้นที่ขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็ว

รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเสริมว่า การร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจงานของกรมด้วยความตั้งใจจริงในโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” จะต้องเริ่มต้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยหลักสูตรอบรมหรือกิจกรรมต่างๆจะเน้นให้ความสำคัญกับคน เพราะวิกฤตของประเทศจะแก้ได้คนต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง มีความรู้ของศาสตร์พระราชาที่ถูกต้องและที่สำคัญต้องทำให้เห็นถึงทางออกร่วมกัน รวมไปถึงเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ช่องทางการตลาดที่เหมาะสม ทุกอย่างจะถูกมองออกมาเป็นมิติและจะต้องบูรณาการงานต่างๆ ในทุกๆมิติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้นเหล่านี้ถือเป็นภาพกว้างโดยรวมทั้งหมดในการขับเคลื่อนภารกิจงานของกรม ประการต่อมา กรมการพัฒนาชุมชนถือเป็นหน่วยงานที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนฉะนั้นอยากจะเน้นย้ำว่าเมื่อนำคนมาอบรมตามหลักสูตรต่างๆที่ได้วางแผนไว้ ทุกอย่างต้องดำเนินกระบวนการไปให้เป็นขั้นเป็นตอน ห้ามลัดขั้นตอน ซึ่งถือเป็นจุดแข็งและเป็นข้อตกลงร่วมกัน

ดังนั้นกระบวนการคัดคนนั้นจะมีความเข้มข้นมาก เมื่อผ่านกระบวนการมาเป็นครูพาทำ หมายถึงว่า เขาสามารถดูแลแปลงในพื้นที่ของเขา สามารถสอนตามความเชี่ยวชาญได้ และสิ่งที่สำคัญในขณะนี้ กรมการพัฒนาชุมชน คัดเลือกครูพาทำเหล่านี้มาสู่กระบวนการสร้างหลักสูตรที่เรียกว่า วิทยากรจิตอาสาพัฒนาชุมชน เพื่อสร้างคนที่มีจิตอาสาออกไปพัฒนาพื้นที่ต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นทีมเกษตรกรรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่กระบวนการเคี้ยวเข้ม พร้อมที่จะออกไปเป็นครูภาคสนามในพื้นที่ต่างๆตามภูมิภาค โดยเข้าไปบูรณาการบริหารจัดการร่วมกับผู้นำชุมชนในพื้นที่ต่างๆ และขณะนี้กรมการพัฒนาชุมชนกำลังกำหนดนโยบายวางแผนการสร้าง นักสื่อสารสังคม ที่สามารถสื่อสารงานศาสตร์พระราชาได้อย่างตรงประเด็น ดังนั้นการได้รับความร่วมมือกับทาง กอ.รมน. ที่เห็นว่าความมั่นคงของชาติเป็นเรื่องของปากท้อง เป็นเรื่องของชีวิตและที่สำคัญคือการทำให้ประชาชนพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด ถือเป็นจุดที่เรียกว่า โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยต้องพัฒนาจากพื้นที่ของเขาก่อน ให้เขามีโอกาส มีความเข้มแข็ง เพื่อจะเป็นพี่เลี้ยงของคนอื่นๆในชุมชนได้ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายหลักของโครงการ

พล.ต. อุดม โกษากุล ผอ.ศปป.1 กอ.รมน. กล่าวขอบคุณ อธิบดีที่เปิดให้ชมวีดิทัศน์ที่เป็นประโยชน์โดยเฉพาะโคก หนอง นา ซึ่งเป็นภารกิจที่เป็นประโยชน์เป็นอย่างมากต่อกอ.รมน. โดยเฉพาะชุดปฏิบัติการ 01 เป็นหน่วยในการลงพื้นที่เพื่อทราบถึงปัญหาที่ชุมชนมีความต้องการและแก้ไขไม่ได้ ก็จะส่งมายังผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นเวทีหลักในการช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งมาดูในเนื้องานพบว่า กรมการพัฒนาชุมชนและงานของกอ.รมน. มีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกันเป็นอย่างมาก จึงอยากมาศึกษางานในการขับเคลื่อนงานการส่งเสริมสถาบันหลัก ชุดขุนด่าน เป็นหน่วยที่เข้าไปคลุกคลีกับชาวบ้าน ตรวจเยี่ยม พบปะชาวบ้าน เพื่อสอบถามปัญหาและความต้องการ ภายใต้หลักการทำงานโดยเฉพาะ ศาสตร์ของพระราชา ในการเสริมสร้างความมั่นคง ในลักษณะเพิ่มศักยภาพเชิงพื้นที่ จังหวัดละ 1 ที่ ใน 14 พื้นที่ต้องการน้ำ หลายพันไร่ ในชุมชนที่ต้องการน้ำเข้าไปช่วยเหลือทั้ง 14 แห่ง และบางพื้นที่ต้องการดำเนินงานตามโครงการ โคก หนอง นาโมเดล โดยที่ชาวบ้านต้องการทำมากขึ้น แต่ขาดงบประมาณในการดำเนินการ ในเขตพื้นที่พัฒนา 14 พื้นที่ที่พัฒนาแหล่งน้ำไปแล้ว และร่วมงานกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยนำองค์ความรู้ นวัตกรรมต่างๆ เข้าลงพื้นที่ บูรณาการทั้ง 14 พื้นที่ และพระนครศรีอยุธยา รวมพื้นที่เป้าหมาย 15 พื้นที่ ถ้าในส่วนของกรมการพัฒนาชุมชนเปิดโอกาสให้มีการขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อยกศักยภาพการทำงานเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน

โดยอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนมีข้อสั่งการ มอบให้ นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวนิภา ทองก้อน ผู้อำนวยการสำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน และนายธนวัฒน์ ปิ่นแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน รวมถึงพัฒนาการทั้ง 14 จังหวัด ประสานงาน กอ.รมน. และประชาสัมพันธ์กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย โดยกรมการพัฒนาชุมชนของบประมาณเงินกู้ในการกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตโควิด รอบที่ 2 ซึ่งมีพื้นที่ 1 -3 ไร่ และ 10-15 ไร่ ในการใช้งบเพื่อโครงสร้างพื้นฐานต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ในการเอามื้อสามัคคี หรือลงแขก คนที่เข้าร่วม สมัครใจ เอาจริง และดำเนินการตามขั้นตอน โดยเฉพาะการฝึกอบรม เพื่อปรับเปลี่ยน mindset และลงมือปฏิบัติ ประชาสัมพันธ์ บูรณาการการทำงาน เพื่อเสนอให้ทาง ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 (กอ.รมน.) ทราบและทำงานร่วมกัน รวมถึงพื้นที่การทำงานทุกภาค มีผู้ที่สนใจในการเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” รวบรวมรายชื่อแจ้งที่พัฒนาการจังหวัดและพัฒนาการอำเภอได้ตลอดเวลา ซึ่งเขาจะได้งบฟื้นฟูเงินกู้ช่วงโควิด ประมาณ 10,000 กว่าครัวเรือน และมีงบประมาณประจำปี 2565 เพื่อเสนอรัฐบาลขอใช้งบในการขับเคลื่อนงานต่อไป ซึ่งเป็นการดำเนินงานในทุกๆ ปี โดยยึดเป้าหมายเดียวกันคือ ให้พี่น้องประชาชนมีความสุขและมีโอกาสที่ดีขึ้นต่อไป อธิบดี พช. กล่าว