พช.ปทุมธานีโชว์“โคก หนอง นา โมเดล” ศาสตร์พระราชา ต่อยอดเศรษฐกิจพอเพียงพึ่งตนเองรองรับวิกฤตโลก
เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2564 นายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีพร้อมด้วย นายพงษ์เทพ รุ่งเรือง พัฒนาการจังหวัดปทุมธานี ดร.พัชราภรณ์ สิริวรเวชยางกูล สถิติจังหวัดปทุมธานี นางพรอัปสร นิลจินดา ประชาสัมพันธ์จังหวัดปทุมธานี นายปลื้ม นับถือบุญ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนจังหวัดปทุมธานี
นางสาวภัทรลภา สุริโย พัฒนาการอำเภอคลองหลวง เจ้าหน้าที่ปกครองอำเภอคลองหลวง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ “โคก หนอง นา โมเดล”ณ ศูนย์เรียนรู้สัมมาชีพชุมชนต.คลองหก อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยมีนายอดุลย์ วิเชียรชัย ประธานศูนย์เรียนรู้ฯให้การต้อนรับพร้อมนำชมการทำเกษตรกรรมประยุกต์ในพื้นที่ ขนาด 10 ไร่จนประสบความสำเร็จกลายเป็นศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริฯ ระดับประเทศ ทั้งยังได้แบ่งปันองค์ความรู้จากการปฏิบัติจริงให้แก่ผู้สนใจมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังเป็นเรี่ยวแรงสำคัญให้แก่กรมการพัฒนาชุมชนในการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์ “โคก หนอง นา โมเดล” ในจังหวัดปทุมธานีอีกด้วย
ทั้งนี้ นายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีได้ร่วมรับฟังบรรยายสรุปการปฏิบัติงาน และเยี่ยมชมโครงการ“โคก หนอง นา โมเดล” ฟาร์มตัวอย่าง ศูนย์การเรียนรู้ ชมการขุดคลองไส้ไก่ ทำฝ่ายชะลอน้ำ
นายอดุลย์ วิเชียรชัย เปิดเผยว่า พื้นที่ของผมไม่ใช่แค่อาชีพเกษตรกรแต่มันคือชีวิต และผมต้องการจะคืนชีวิตให้แก่ดิน ผมเลยออกแบบที่ดินจำนวน 10 ไร่ เป็นรูปอวัยวะภายในของคน ในการสร้างโคกหนองนาโมเดล สังเกตได้ว่าลมหายใจที่เข้ามาเปรียบเสมือนเป็นเส้นทางในการหล่อเลี้ยงเกษตรกร หล่อเลี้ยงพืชพรรณต่างๆ แหล่งน้ำที่อยู่ในปอดทั้งสองข้างจะช่วยเติมเต็มเรื่องของภัยแล้ง ภัยธรรมชาติ หนองตัวนี้จะช่วยเรื่องการระบายน้ำจากตะวันออกไปสู่ตะวันตก จากทิศเหนือสู่ทิศใต้ และนำดินจากการขุดหนองมาทำคันปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ผมมั่นใจว่าใน 1 ปี จะมีน้ำพอเพียงในการทำเกษตร สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งได้อย่างสมบูรณ์ โดยไม่ต้องพึ่งพาคลองชลประทาน เหมือนที่ในหลวงร.9 บอกให้ช่วยกันทำบ้านของเราให้เป็นเหมือนหลุมขนมครก เวลาน้ำมาก็จะได้ช่วยกัน
ผมจะไม่ใช้ทุนสูง เพราะผมรู้ว่าบริบทของชุมชนไม่มีเงินเป็นต้นทุนชีวิต แต่มีเรี่ยวแรง มีหัวใจเป็นต้นทุนชีวิต จึงต้องทำให้เขาใจ เข้าถึง พัฒนา จับต้องได้ และสามารถสร้างรายได้ไปพร้อมๆ กับเรา“เศรษฐกิจพอเพียงแก่นแท้คือการพัฒนาคน พัฒนาชีวิต พัฒนามนุษย์ พัฒนาอาชีพของตนเองให้ดีขึ้น ก็เลยเป็นที่มาของการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในรูปแบบโคกหนองนาโมเดล ผมเปลี่ยนแปลงพื้นที่ 10 ไร่เป็นโคกหนองนาโมเดล โดยใช้หลักภูมิสังคม ภูมิศาสตร์ ให้สามารถใช้งานได้จริง”และที่สำคัญต้องสร้างแหล่งน้ำขึ้นมาเชื่อมกับคลองไส้ไก่เล็กเป็นชั้นๆขึ้นไป มีพื้นที่ปลูกไม้ 5 ระดับ ตั้งแต่ไม่เนื้อแข็ง ไม้ยืนต้น ไม้เลื้อย พืชผัก และไม้กินหัวใต้ดิน นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์ การห่มดินด้วยฟางข้าวหรือหญ้าแห้งอีกด้วย โคก-หนอง-นา โมเดล คือรูปแบบการจัดการที่ดินให้กลายเป็นพื้นที่ทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยยึดหลักให้ธรรมชาติจัดการกันเองและให้มนุษย์เป็นส่วนเสริมให้วิถีเกษตรนี้สำเร็จอย่างเป็นระบบ
ด้าน นายพงษ์เทพ รุ่งเรือง พัฒนาการจังหวัดปทุมธานีกล่าวว่า จากสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันต้องเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจ ด้านการสาธารณสุขด้านการคมนาคมและอื่น ๆ ส่งผลให้เกิดวิกฤตทางสังคมขนาดหนักไปทั่วทั้งโลกอีกทั้งวิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งเรื่องภัยแล้งและน้ำท่วมที่คาดว่าจะมีความรุนแรงขึ้นทั้งในเชิงความผันผวน ความถี่ และขอบเขตที่กว้างมากขึ้น ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นทำให้เศรษฐกิจฐานราก ของประเทศเกิดความเสียหาย เพิ่มปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำทางสังคม ตลอดจนระบบการผลิตทางการเกษตรที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับความมั่นคงด้านอาหารและน้ำ ขณะที่ระบบนิเวศต่าง ๆ มีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง
กรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลัก ในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยการพัฒนาคนให้พึ่งตนเอง มีความเป็นเจ้าของและบริหารจัดการโดยชุมชน พัฒนาหมู่บ้านหรือชุมชนให้มีวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นสังคม “อยู่เย็น เป็นสุข”โดยใช้หมู่บ้านเป็นฐานของการพัฒนา มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันให้ทุกครัวเรือน และพัฒนาคนให้มีความรู้และปรับตัวให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข มีอาชีพ สร้างรายได้ ท่ามกลางวิกฤตโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการจัดทำโครงการที่ประยุกต์การใช้ศาสตร์พระราชาและน้อมนำเอาแนวคิด และทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 40 ทฤษฎี ที่ทรงพระราชทานไว้ให้ในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมาประยุกต์กับแนวคิดการพัฒนาพื้นที่และการออกแบบเชิงภูมิสังคมไทยเพื่อการพึ่งตนเองและรองรับภัยพิบัติ ในรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” สร้างการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เหมาะสมกับหมู่บ้านในภูมิสังคมต่าง ๆ ผ่านการทำงานในรูปแบบการจ้างงาน
และการร่วมกันเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนและชุมชน สนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนสามารถพัฒนายกระดับมุ่งไปสู่การจัดตั้งบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมในระดับตำบล เพื่อพัฒนาศักยภาพการเพิ่มผลผลิตต่าง ๆ ที่ได้จากในพื้นที่ดำเนินการ เพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูป ขยายตลาด การท่องเที่ยวชุมชน ฯลฯ และสร้างงานวิจัยชุมชนเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์หรือค้นหาอัตลักษณ์ของชุมชนเตรียมความพร้อมให้ชุมชนมีความสามารถในการพึ่งตนเองในเรื่องของน้ำ อาหาร และพลังงานทดแทนสร้างภูมิคุ้มกันชุมชนต่อสภาพปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติธรรมชาติอย่างรุนแรง วิกฤตทางด้านโรคระบาด วิกฤตทางด้านความอดอยาก และวิกฤตความขัดแย้งของสงครามเศรษฐกิจหรือสงครามรูปแบบต่าง ๆ ในอนาคต