นักวิชาการจากสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล แนะทาน “กุ้ง” อย่างไร ให้ปลอดภัย ในช่วง COVID-19

นักวิชาการจากสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล แนะทาน “กุ้ง” อย่างไร ให้ปลอดภัย ในช่วง COVID-19

รศ.ดร.ทพญ.ดุลยพร ตราชูธรรม อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทยช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา “ตลาดค้ากุ้ง” สมุทรสาครถือเป็นจุดเริ่มต้นที่มีความเชื่อมโยงกับบุคคลหลายกลุ่ม ตั้งแต่บ่อกุ้งมาจนถึงผู้ซื้อ ซึ่งจากการศึกษายังไม่มีข้อมูลใดยืนยันว่าเชื้อโควิด-19 อยู่บนตัวของกุ้งได้หรือไม่ และอยู่นานเท่าใด มีเพียงรายงานว่า เชื้อโควิด-19 สามารถมีชีวิตอยู่บนผิวพลาสติก และสแตนเลสได้ 3 วัน ผิวกระดาษได้ 24 ชั่วโมง และผิวโลหะได้ 4 ชั่วโมง นอกจากนี้เชื้อโรคโควิด-19 สามารถอยู่ในที่เย็นจัดได้เป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า การสัมผัสกุ้งสดในตลาดจะเป็นสาเหตุของการระบาดหรือไม่”

นอกจากนี้ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน สรุปว่า เชื้อโควิด-19 หรือ SAR-CoV-2 ไม่จัดเป็น Food-borne virus แปลว่า ไม่ติดผ่านการรับประทานอาหาร เพราะเชื้อโควิด-19 ไม่ทนความร้อน การประกอบอาหารที่ใช้ อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไปสามารถทำลายเชื้อได้ นอกจากนี้ไวรัสชนิดนี้ไม่สามารถทนกรดในกระเพาะอาหาร (ตายที่ pH ต่ำกว่า 3) ดังนั้นโอกาสที่จะติดเชื้อจากการรับประทาน จึงเป็นไปได้ยาก การแพร่กระจายของเชื้อโควิดน่าจะติดจากการสัมผัสกับคน ผ่านระบบทางเดินหายใจ (respistory virus) เป็นหลัก จากเหตุผลดังกล่าว WHO หรือ World Health Organization รวมถึงองค์กรในต่างประเทศ จึงมีข้อสรุปตรงกันว่า โควิดไม่น่าจะติดจากการรับประทานอาหารสุก

รศ.ดร.ทพญ.ดุลยพร แนะนำเพิ่มเติมว่า “เพื่อความปลอดภัยในช่วงของการระบาดระลอกใหม่ จึงมีข้อแนะนำในการทานกุ้ง รวมถึงอาหารสดอื่น ๆ ได้แก่

  1. กุ้งที่ทำให้สุกโดยการผ่านความร้อนแล้ว สามารถรับประทานได้
  2. ไม่ควรรับประทานเมนูกุ้งดิบ เช่น กุ้งเต้น กุ้งแช่น้ำปลา เป็นต้น
  3. การเลือกซื้อกุ้งสดจากตลาดไม่ควรใช้มือสัมผัสที่กุ้งโดยตรง ควรใส่ถุงมือแบบใช้แล้วทิ้ง
  4. หลังสัมผัสอาหารสด ควรล้างมือโดยถูสบู่อย่างน้อย 20 วินาทีทุกครั้ง แล้วจึงใช้แอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อ และ
  5. ควรเลือกซื้อกุ้ง จากแหล่งที่มีสุขลักษณะของผู้จำหน่ายและบริเวณจำหน่ายที่เหมาะสม เช่น มีการคัดกรองผู้เข้าตลาด มีถุงมือแบบใช้แล้วทิ้งให้บริการ มีที่ล้างมือและสเปรย์แอลกอฮอล์ให้บริการ และผู้ขายใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เป็นต้น”

 

การใช้ชีวิตวิถีใหม่แบบ New Normal ไม่ได้ยาก แต่ก็ไม่ง่าย เพียงแค่เราเพิ่มความใส่ใจด้านความสะอาดให้กับตนเองและผู้อื่น เราก็จะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันอีกครั้ง “ล้างมือ กินร้อน ใช้ช้อนของตัวเอง”