พช. เดินหน้า ชวนทุกท้องถิ่นสร้างวัฒนธรรมปลูกผักสวนครัว

พช. เดินหน้า ชวนทุกท้องถิ่นสร้างวัฒนธรรมปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงด้านอาหาร ดูแลสิ่งแวดล้อมฝ่าภัยโควิด 19

9 มกราคม 2564  นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่กรมการพัฒนาชุมชน ได้ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชน “น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ทั้งในระดับครัวเรือน และระดับกลุ่มอาชีพในชื่อแผนปฏิบัติการ 90 วันสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ในช่วงวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 และขยายผลดำเนินการตลอดทั้งปี 2563 มีพี่น้องประชาชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมากโดยมีภาคีเครือข่าย เช่น บริษัท อีสท์-เวสท์ ซีด หรือศรแดง ,บริษัท เจียไต๋, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ,กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ,โอทอปเทรดเดอร์ และอีกหลายส่วนได้ร่วมมือช่วยกัน


เพื่อเป็นการต่อยอดและขยายผลการดำเนินงานโครงการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือน ระดับชุมชนหมู่บ้านให้มีความยั่งยืน ในช่วงนี้ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 หรือในภาวะปรกติตลอดไป กรมการพัฒนาชุมชน ได้มีหนังสือขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ช่วยบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการ “ปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหาร” โดยให้ความสำคัญของ“อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก” หรือ อถล. ที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบขององค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก พ.ศ.2561 โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ถอดบทเรียนความสำเร็จของโก่งธนู โมเดลที่ นายก อบต.นายบรรหาร นวรัตน์ และนางแสงจันทร์ ระวังกิจปลัด อบต.โก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี ได้ขับเคลื่อนจนประประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมภายใต้โครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีส่งมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้ใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนตามความเหมาะสมสอดคล้องกับภูมิสังคมโดยระดับจังหวัดให้พิจารณามอบหมายให้พัฒนาการจังหวัดประสานความร่วมมือกับท้องท้องถิ่นจังหวัด และภาคีเครือข่ายบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อน “โครงการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” โดยมีอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกหรือ อถล.ช่วยขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ตามรูปแบบการดำเนินงานขององค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู (โก่งธนู โมเดล) เพื่อใช้ในการกำหนดแนวทาง/การบูรณาการความร่วมมือในระดับพื้นที่สนับสนุนอำเภอ สนับสนุนทางด้านวิชาการ ระบบนิเทศ/ติดตาม และรายงานผลการดำเนินงาน ตลอดจนประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สู่สาธารณชน


“ระดับอำเภอ” มอบหมายสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ โดยพัฒนาการอำเภอ ศึกษารูปแบบ/แนวทางการดำเนินงานขององค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู (โก่งธนู โมเดล) สร้างการเรียนรู้กับเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกคน ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ออกแบบรูปแบบ/แนวทางในการบูรณาการกิจกรรม “ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” กับ “โครงการอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก” เป็นพื้นที่ในการดำเนินกิจกรรมสำคัญ เช่น รณรงค์ให้ทุกหลังคาเรือนมีความสามารถในการคัดแยกขยะ สร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้ทุกครัวเรือนสามารถในการบริหารจัดการขยะเปียก นำเศษอาหารมาทำเป็นปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ ใส่แปลงผัก การดูแลรักษาความสะอาดครัวเรือนให้ถูกสุขลักษณะ ดูแลรักษาภูมิทัศน์/สิ่งแวดล้อมให้ชุมชนน่าอยู่ น่ามอง ขยายผลการปลูกผักสวนครัว การสร้างคลังอาหารเพิ่มขึ้น เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน และอื่น ๆ โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2564และส่งเสริม/สนับสนุนให้ผู้นำ กลุ่ม/องค์กร เครือข่ายการพัฒนาชุมชน เช่น ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.)/อาสาพัฒนาชุมชน (อช.) คณะกรรมการพัฒนาสตรีทุกระดับ (กพสม./กพสต./กพสอ./กพสจ.) เข้าร่วมเป็นเครือข่ายอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกและร่วมปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ และประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานภาคี การพัฒนา กำหนดรูปแบบกิจกรรมติดตามเยี่ยมเยียน ให้กำลังใจ รวมถึงกำหนดกิจกรรมสร้างแรงจูงใจ แก่ชุมชนและผู้ปฏิบัติงาน และในส่วนกลาง กรมการพัฒนาชุมชน ยังคงดำเนินการประสานสร้างเครือข่าย ขยายผล กับหน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนองค์ความรู้ และเมล็ดพันธุ์ผักบางส่วนให้กับพี่น้องประชาชน

“ถ้าหากทุกภาคส่วนมีการบริหารร่วมกัน สามารถจัดการผลผลิตส่วนเกินให้มีมูลค่าเพิ่ม จะทำให้“ชุมชนสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” สร้างจิตวิญญาณรักสิ่งแวดล้อม และสร้างชุมชนสีเขียว “จากวัฒนธรรม สู่นวัตกรรม” ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารและของใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันจากพืชผักอาหารรักษ์สุขภาพ อาหารรักษ์โลก ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรพื้นบ้าน นำไปสู่ “ชุมชนเกื้อกูล เพิ่มพูนสามัคคี วิถีพอเพียง” เกิดชุมชนเกื้อกูล สามารถดูแล ช่วยเหลือ และแบ่งปันจัดตั้งศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์หรือต่อยอดในรูปแบบอื่นๆ การขับเคลื่อนครั้งนี้มุ่งหวังให้เกิดความมั่นคงทางอาหารอย่างแท้จริงในทุกชุมชนทั่วประเทศ ทำให้พี่น้องประชาชนมีพืชผักปลอดภัยไว้กินเอง และแบ่งปัน รวมถึงขยายผลต่อยอดสร้างรายได้ และสิ่งสำคัญคือเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ ส่งเสริมการเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ และสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนในประเทศไทยของเรา” อธิบดี พช. กล่าวทิ้งท้าย