พช.จับมือ 16 ภาคี 3 MOU สนองพระราชปณิธานในหลวง ร.10 “สืบสาน รักษา และต่อยอด”

พช.จับมือ 16 ภาคี 3 MOU สนองพระราชปณิธานในหลวง ร.10 “สืบสาน รักษา และต่อยอด” น้อมนำศาสตร์พระราชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผสานพลังขับเคลื่อนสู่จุดหมาย “แก้ได้ หายจน ชีวิตมั่นคง ครอบครัวมั่งคั่ง ชุมชนยั่งยืน”

วันที่ 24 ธันวาคม 2563

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีและร่วมเป็นสักขีพยาน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 3 ฉบับ ได้แก่ 1.การขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก Sufficiency Economy Philosophy to Sustainable Development Goals (SEP to SDGs) 2.โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ขั้นก้าวหน้า “Premium Product of Thailand ในทุกภูมิภาคของไทย” และ 3.โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”

โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ รศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย รองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นางสาวจิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นางสัณหจุฑา จิราธิวัฒน์ ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ (Earth Safe) นายไตรภพ โครตวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ นายสมเกียรติ กิมาวนา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร นายรักษ์เผ่า พลรัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัทเอามื้อสามัคคีวิสาหกิจเพื่อสังคมจำกัด และตัวแทนจากหน่วยงานภาคี 7 ภาคี รวม 16 หน่วยงาน ลงนามในความร่วมมือในการแสดงเจตนารมณ์น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงชนชาวไทย และสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริฯ ณ เวทีกลาง อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “ในการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ทั้ง 3 ฉบับนี้ เห็นได้ว่าทุกหน่วยงานมีความมุ่งหมายที่จะสืบสานศาสตร์พระราชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก โดยรัฐบาลได้น้อมนำแนวพระราชดำริดังกล่าวมาปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญกับการเร่งแก้ไขปัญหาจากฐานราก และสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ตามแนวพระราชดำริที่พระองค์ท่านทรงวางแนวทางการพัฒนา ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในลักษณะการพึ่งตนเอง โดยทรงใช้คำว่า “ระเบิดจากข้างใน” นั่นคือ ทำให้ชุมชน หมู่บ้าน มีพื้นฐานที่มั่นคงพอสมควรก่อน แล้วจึงสร้างความเจริญ และยกระดับเศรษฐกิจให้สูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อันจะเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งจะนำพาประเทศไทยให้ไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” อย่างแท้จริง”

ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า “เป็นบุญของพวกเราชาวไทยที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตาและสายพระเนตรอันยาวไกลห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ ดังพระปฐมบรมราชโองการความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” การลงนามในความร่วมมือทั้ง 3 ฉบับที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นดังการสนองงานและสัญลักษณ์ของการตั้งปณิธานที่แน่วแน่ร่วมกัน ที่พวกเราจะช่วยกันน้อมนำ สืบสาน แนวทางพระราชดำริ ศาสตร์พระราชา ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องชาวไทยอย่างยั่งยืน นำพาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า ความร่วมมือจากทุกภาคีเครือข่ายวันนี้จึงมีความสำคัญยิ่ง มีจุดเริ่มต้นจาก กรมการพัฒนาชุมชน ได้เข้าร่วมดำเนินโครงการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก (Sufficiency Economy Philosophy to Sustainable Development Goals: SEP to SDGs)

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2562 ในงานวันดินโลก “พลังงานสรรค์สร้างพลังแผ่นดิน เพื่อการฟื้นฟูโลก” ณ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก โดยมีหน่วยงานร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ (Earth Safe) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และบริษัท เอามื้อสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งได้แสดงปฏิญญาความร่วมมือกับกรมการพัฒนาชุมชน ในการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก และเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นและประชาชนทั่วไป เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงทางด้านน้ำ อาหาร และพลังงาน ตามเป้าหมายความยั่งยืนโลก และสร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

 

โดยในรอบปีที่ผ่านมา กรมการพัฒนาชุมชน ได้บูรณาการร่วมกับ 7 ภาคี น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ในพื้นที่ชนบท เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความสุข ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่สมดุล โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ความยั่งยืนโลก (SEP to SDGs) ในโครงการ กิจกรรมต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) โครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาขยายต่อยอดสู่กิจกรรมตามแผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น

การดำเนินการดังกล่าว เป็นการพัฒนาคน ให้มีความรู้ที่พร้อมถึงด้วยคุณธรรมให้เลิกแข่งขันหันมาแบ่งปันกัน นำความรู้มาใช้ในการแก้ไขปัญหา ทั้งความรู้จากทฤษฎีใหม่กว่า 40 ทฤษฎี ความรู้จากภูมิปัญญาพื้นบ้าน และความรู้สมัยใหม่ที่นำมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับภูมิสังคม และแสวงหาเครือข่าย องค์กรภาคีในทุกหน่วยงานมาร่วมกันทำงานแบบบูรณาการ อาศัยศักยภาพจุดแข็งของแต่ละหน่วยงาน มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม การพึ่งพาตนเองให้สามารถบริหารจัดการตนเองและชุมชนได้อย่างยั่งยืน ให้ชุมชนมีส่วนร่วมกันขับเคลื่อนการสืบสานศาสตร์พระราชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่เป็นแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ในพื้นที่ชนบทเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความสุข ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง

ในส่วนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ขั้นก้าวหน้า “Premium Product of Thailand” และโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เรามุ่งหวังเหลือเกินในการผลักดันให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องกว่า 36,593 ครัวเรือน 76 จังหวัด ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” และเชื่อว่าในอนาคตจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จะได้รับการสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้ นวัตกรรม จากทุกภาคีทุกสรรพกำลังอย่างเต็มศักยภาพ กรมการพัฒนาชุมชน มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสนับสนุนของ 7 ภาคี ทุกภาคีนั้นเป็นดังหลักประกันถึงคุณภาพและมาตรฐาน ให้ทุกอย่างเป็นจริงได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต สิ่งที่เรากำลังจะสร้างและมองเห็นร่วมกันคือชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประเทศไทยมั่นคง ยั่งยืน เป็นรูปธรรมกระจายไปทั่วทุกตารางนิ้ว เหนือสิ่งอื่นใดคือ พลังแห่งการสร้างสรรค์แผ่นดิน น้อมนำศาสตร์พระราชา พัฒนาคน ให้คนกลับไปพัฒนาบ้านเกิดอย่างเต็มภาคภูมิ เป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของรัฐบาล”

 

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า “สิ่งพิเศษอีกประการหนึ่งที่กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นคือการน้อมนำเอาศาสตร์พระราชา ทุกทฤษฎี ทุกหลักปรัชญา มาสู่การปรับประยุกต์ในพื้นที่กว่า 600 ไร่ ในอําเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ให้เป็นสถานที่ที่พี่น้องประชาชนได้ศึกษา ฝึกปฏิบัติ และที่สำคัญคือการนำไปใช้สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในที่สุด ทั้งนี้ขอให้สิ่งที่พวกเราทุกคนได้ร่วมแรง ร่วมใจเสียสละ ไม่สูญเปล่า สร้างประโยชน์อย่างถาวร และขอประกาศเจตนารมณ์ของข้าราชการและบุคลากร กรมการพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมจัดกิจกรรมวันดินโลก ในนามของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่จะร่วมบูรณาการการทำงาน

โดยการสร้างพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ในพื้นที่ความรับผิดชอบดำเนินงานของกรมการพัฒนาชุมชน ด้วยการพัฒนาคนจำนวน 46,429 คน ให้มีความรู้ในหลักทฤษฎีใหม่กว่า 40 ทฤษฎี ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานเป็นแนวทางในการฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่า และความหลากหลายทางพันธุกรรมพืช และเป็นการสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการที่จะ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับ ไปปฏิบัติงานในการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน จำนวน 36,256 ครัวเรือน และในระดับตำบล จำนวน 337 ตำบล รวมพื้นที่ดำเนินงานทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 100,000 ไร่ ผ่านการจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชน เอามื้อสามัคคี ในการร่วมแรงร่วมใจกันเรียนรู้และพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวน 111,127 ครั้ง รวมถึงจัดกิจกรรมทางวิชาการ นิทรรศการ และการสื่อสารสังคมจากทุกพื้นที่ดำเนินงานใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด “รักษ์ปฐพี คืนชีวี ที่หลากหลายให้ผืนดิน” “Keep Soil Alive, Protect Soil Biodiversity” ตลอดทั้งปี พ.ศ. 2564 ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7ภาคี ให้เกิดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นไทย ขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล ให้สมดังคำกล่าวที่ว่า “แก้ได้ หายจน ชีวิตมั่นคง ครอบครัวมั่งคั่ง ชุมชนยั่งยืน” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าว

 

โดยการจัดทำบันทึกข้อตกลง ทั้ง 3 ฉบับโดย กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมบูรณาการกับภาคีทั้ง 16 หน่วยงาน ในครั้งนี้ มุ่งขับเคลื่อนความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่ การสืบสานศาสตร์พระราชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นสมบัติของชาติให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยการสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำ อาหาร และพลังงาน ส่งผลให้เกิดความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ การส่งเสริมหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางการพัฒนาต่อยอดจากโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ไปสู่ขั้นก้าวหน้า โดยทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในขั้นก้าวหน้าเพื่อให้เกิด Premium Product of Thailand ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคละ 9 ผลิตภัณฑ์รวม 36 ผลิตภัณฑ์ ผลักดันไปสู่ตลาดนานาชาติ และร่วมกันสนับสนุนงานวิชาการ ให้คำปรึกษา ร่วมตรวจสอบและประเมินคุณภาพงานตามหลักวิชาการที่สอดคล้องกับเงื่อนไขโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เหล่านี้เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการสืบสานศาสตร์พระราชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายความยั่งยืน และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ในพื้นที่ชนบท เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความสุข ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงต่อไป