อธิบดี พช. นำทัพข้าราชการประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต

อธิบดี พช. นำทัพข้าราชการประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตพร้อมกำหนดทิศทางและนโยบายการพัฒนาชุมชน ปี 2564 ให้บรรลุเป้าหมาย และวิสัยทัศน์

22 ธันวาคม 2563
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสื่อสารทิศทางและนโยบายการพัฒนาชุมชน และการประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต กรมการพัฒนาชุมชน ประจำปี 2564 พร้อมบรรยายพิเศษ หัวข้อ “การขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”


โดยมี นางวิไลวรรณ ไกรโสดา นายนิวัติ น้อยผาง นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมพิธี ซึ่งการประชุมดำเนินการระหว่างวันที่ 22-23 ธันวาคม 2563
โดยมีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 376 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารส่วนกลาง พัฒนาการจังหวัด และผู้อำนวยการกลุ่มงานสังกัดส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง ณ ห้องประชุมจูปีเตอร์ 4-7 อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเน้นย้ำในการประชุมว่า“ตลอดระยะเวลาที่ผมมาเป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน 1 ปีกว่า ผมก็ได้ทบทวนการทำงานของผม การเป็นผู้นำนั้นจะต้องมีกาลเทศะ เพราะฉะนั้นต้องทบทวน ได้เข้าใจว่า ผู้บริหารทุกคนอยากให้ทุกคนมีความก้าวหน้า แต่ความก้าวหน้าต้องอยู่บนพื้นฐานของเรื่องของกฎเกณฑ์ ทำอย่างไรถึงให้เกิดการยอมรับ หากเราสามารถบอกได้ว่า งานพัฒนาชุมชนไม่ได้ด้อยไปกว่าหน่วยงานอื่น ซึ่งงานพัฒนาชุมชนเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ต่อประเทศชาติ มีความสำคัญต่อการอยู่รอดของประเทศชาติ

 

ในแง่ของการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแนวพระราชดำริ แก่ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน ณ เขื่อนน้ำพุงไว้ คนในสังคมเข้าใจว่าความมั่นคงเกี่ยวกับทหารจะต้องเกี่ยวกับอาวุธรั้วของชาติเพียงอย่างเดียว แต่จริงๆ ไม่ใช่ งานของพัฒนาชุมชนเป็นงานการให้ความรู้กับพี่น้องประชาชน เป็นงานที่ทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคง เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น มีนัยว่า เราเป็นคนทำให้ประเทศนี้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน คนกรมการพัฒนาชุมชนทุกคนต้องเข้าใจให้ตรงกันว่างานเราสำคัญเกี่ยวพันกับความอยู่รอดของประเทศชาติ จากการดำเนินงานที่ผ่านมา กรมการพัฒนาชุมชนมีผลงานมากมาย แต่เนื่องจากผมอยากทำให้องค์กรของเราเป็นองค์กรชั้นเลิศ พัฒนาการจังหวัดทุกคนมีโอกาสก้าวสู่ตำแหน่งที่สำคัญ

เพราะฉะนั้นจุดแรกของปี 2564 จึงอยากให้พวกเราได้ร่วมกันตั้งจิตศรัทธาร่วมกันในการที่จะปลุกเร้าตัวเองให้นำพากรมการพัฒนาชุมชนไปสู่องค์กรที่เป็นที่ยอมรับนับถือโดยไม่มีใครสงสัย ด้วยการทุ่มเททุกวินาทีในการที่จะปฏิบัติงานในหน้าที่ให้บังเกิดผลดีแก่พี่น้องประชาชน ผมอยากให้ทุกคนพิสูจน์การทำงานในพื้นที่ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ค้นหาสิ่งที่เรามั่นใจในการทำงาน ส่งเข้าประกวดรางวัลเลิศรัฐ ในปี 2564 ประเด็นหลักในการพิจารณาส่งเข้าประกวดคือผลงานที่โดดเด่นของพื้นที่ หรือโครงการและหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ ซึ่งวัตถุประสงค์หลักคืออยากให้พัฒนาการจังหวัดเป็นที่ยอมรับ เพื่อเป็นการสร้างบ้าน สร้างรากฐาน สร้างถนนให้กับพี่น้องของกรมการพัฒนาชุมชน ให้มีที่ยืนที่มั่นคงและสง่างาม ประโยชน์เหนืออื่นใดของการส่งเข้าประกวดรางวัลเลิศรัฐ คือ วิธีการบังคับตัวเราและน้องๆ ในสำนักงานพัฒนาชุมชนทุกคนไม่หยุดนิ่งในการพัฒนางานและเพียรพยายามทำงานให้เป็นไปตามหลักการบริหารงานที่ดี ยกตัวอย่างจังหวัดนครพนมที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาการมีส่วนร่วม ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน คือ โครงการนครพนมสร้างสังคมอุดมสุข โดยการออกแบบโมเดลการแก้ไขปัญหาความยากจนให้ทุกหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งงานในหน้าที่จะสัมฤทธิ์ผลได้จะต้องผ่านกระบวนการการวางแผน เขียนโครงการ และขับเคลื่อนร่วมกันกับภาคีเครือข่าย ทุกคนมีส่วนร่วม ก็จะเกิดการสื่อสารที่ดี

และงานที่เป็นภารกิจของกรมการพัฒนาชุมชนจะส่งผลกระทบโดยตรงในทางที่ดี คือ เรื่องการรวมกลุ่ม กลุ่มออมทรัพย์ OTOP เราต้องบูรณาการงานให้ได้ สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ให้เราว่า ทฤษฎีใหม่ มี 3 ขั้นตอน เริ่มจากระดับครัวเรือน ชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด ที่ส่งผลเกื้อกูลกับคนทั้งโลก ถ้ามีคนเข้าร่วม 6 ล้านครัวเรือน เราจะมีต้นไม้เป็นพันล้านต้น โลกจะดีขึ้น พอมี พอกิน พอใช้ คนในครัวเรือนมีความมั่นคง มีคุณภาพชีวิต เลี้ยงดูตัวเองได้ เกิดการรวมกลุ่ม ดำเนินกิจกรรมต่างๆ การลงแขกเอามื้อ สวัสดิการชุมชน แต่ขั้นก้าวหน้าจะทำให้เรามีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากโคกหนองนา ทุกคนได้ประโยชน์ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน

ฝากเรื่องโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ซึ่งเป็นเงินกู้ฟื้นฟูโควิด-19 สิ่งสำคัญคือแต่ละครัวเรือนต้องเลี้ยงตัวได้ ซึ่งจะต้องมีองค์ความรู้ สร้างความเชื่อมั่น จะก่อให้เกิดคนที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ มีจิตใจที่เสียสละ การช่วยเหลือ การลงแขก การช่วยงาน ออกความคิด ให้กำลังใจ จะก่อให้เกิดสิ่งที่สืบเนื่องตามมา เราได้ช่วยการปฏิบัติตนตามปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงต้องการ สืบสาน รักษา ต่อยอด แนวพระราชดำริของพระบรมชนกนาถของพระองค์ท่าน ในเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถสืบสานศาสตร์พระราชา รักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อยอดด้วยการนำเทคโนโลยีสร้างนวัตกรรม โครงการนี้ Gistda และ Earth Safe ได้นำเอานวัตกรรมมาช่วย รวมทั้งปราชญ์ชาวบ้าน จะก่อให้เกิดผลในเรื่องของการฟื้นฟูทรัพยากร ดิน น้ำ ลม ไฟ และรักษาสังคมที่ดีงาม วัฒนธรรมแห่งความรัก ความสามัคคี ในการยึดมั่นในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ

“หลักการพัฒนาต้องยึดหลัก บวร (บ้าน วัด ราชการ) บรม (บ้าน ราชการ มัสยิด) ครบ (คริสต์ ราชการ บ้าน)ยึดสถาบันหลักของชุมชน และท้องถิ่นเป็นภาคีเครือข่ายในการทำงาน ยึดหลักคุณธรรม อนุรักษ์ พัฒนาควบคู่กัน ทำให้เกิดสังคมแห่งอุดมคติ จะกลายเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความสามัคคี มีรอยยิ้ม การทำงานจะต้องมีคุณธรรมเป็นฐาน ให้อนุรักษ์ และพัฒนา การพัฒนาต้องไม่ทำลาย สังคมจะอยู่ได้ ทุกคนทุกอาชีพทุกเพศทุกวัย ด้วยความรักความสามัคคี เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาชุมชน ดังคำขวัญเนื่องในวันพัฒนา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานดำรัสไว้ว่า “พัฒนา คือ สร้างสรรค์” สุดท้ายก็คือ ทุกคนต้องมีใจในการทำงาน เพราะฉะนั้นปีใหม่นี้ผมขอให้คนกรมของกรมการพัฒนาชุมชนมีใจที่มุ่งมั่นที่จะทำงาน แต่ที่สำคัญต้องรักในความเป็นข้าราชการที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รักษาชื่อเสียงของกรมการพัฒนาชุมชนให้เป็นที่ยกย่อง ขอให้เรารักองค์กร และทำงานเป็นทีมเพื่อพี่น้องประชาชน”

“ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะพัฒนาการจังหวัดทั้ง 76 คน ต้องทำงานให้สังคมยอมรับ คือต้องมีผลงาน มีภาวะผู้นำ ส่วนใหญ่มีผลงานดีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าดีสุด แต่สิ่งหนึ่งซึ่งข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชนต้องเพิ่ม คือ ภาวะผู้นำ ตลอดระยะเวลาที่ผมรับราชการ พวกเรามีธรรมชาติของการเป็นทีมที่ดี ทำงานดี ได้รับการชื่นชมและความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชา สิ่งที่เอื้อปัจจัยต่อความสําเร็จในการทํางาน คือจะต้องมีทัศนคติที่ดี มีความเชื่อมั่นในค่านิยมของการทำงาน มีแรงบันดาลใจในการทํางานให้ประสบผลสำเร็จ มีเป้าหมายในการทำงานที่ดีกว่าเดิม และ Change for Good เพื่อให้เกิดผลดีกับส่วนรวม

ทุกคนต้องมีใจในการทำงาน เพราะฉะนั้นปีใหม่ 2564 นี้ ผมขอให้คนกรมของกรมการพัฒนาชุมชนมีใจที่มุ่งมั่นที่จะทำงาน แต่ที่สำคัญต้องรักในความเป็นข้าราชการที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รักษาชื่อเสียงของกรมการพัฒนาชุมชนให้เป็นที่ยกย่อง ขอให้เรารักองค์กร และทำงานเป็นทีม เพื่อให้พี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นผู้มีพระคุณของเรา ให้พี่น้องประชาชนได้รับสิ่งที่ดีจากเรา ผมหวังว่าพวกเราทุกคนจะช่วยกันด้วยหัวใจของคน พช.” อธิบดี พช. กล่าวทิ้งท้าย