ตรัง “วราวุธ”บุกเมืองตรังเซ็นMOUร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ เดินหน้าปราบขยะตั้งแต่ต้นทาง

“วราวุธ” ลั่นปัญหาขยะทะเลยังไม่จบ นำหน่วยงานในสังกัดบุกเมืองตรังเซ็นMOUร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ เดินหน้าปราบขยะตั้งแต่ต้นทาง พร้อมอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเล ปลุกคนไทยอย่าลืมบทเรียน “น้องมาเรียม” เสียชีวิต ทุกวันนี้ยังมีสัตว์ต้องตายจากขยะพลาสติกอีกมาก ย้ำต้องลดละเลิกการใช้พลาสติกให้มากที่สุด

(26 พ.ย.) ที่บริเวณหาดยาว บ้านเจ้าไหม ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนทะเลตรังสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมทั้งร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ “ขับเคลื่อนตรังสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาขยะทะเลและอนุรักษ์พะยูน” ระหว่าง กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ จังหวัดตรัง องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลิบง สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง มูลนิธิอันดามัน และชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะทะเลและอนุรักษ์พะยูน โดยมี นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวต้อนรับ และมีนายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมกล่าวรายงาน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาขยะเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อชีวิตของประชาชนและระบบนิเวศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งซึ่งมีขยะจำนวนมากถูกพัดพาลงไปสู่ทะเลจนเกิดผลกระทบและความสูญเสียตามมาอย่างมากมาย เช่น กรณี “น้องมาเรียม” ลูกพะยูนขวัญใจคนไทยที่ต้องมาเสียชีวิตจากการกินเศษขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่คนไทยจะต้องตื่นรู้และให้ความสนใจกับการจัดการขยะให้มากยิ่งขึ้น และที่ผ่านมาแม้จะมีสัญญาณดีหลายอย่างเกี่ยวกับการจัดการปัญหาขยะในประเทศไทย เช่น ผลจากมาตรการงดใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาเก็ต และร้านสะดวกซื้อ ที่ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 สามารถลดปริมาณการใช้ถุงหูหิ้วพลาสติกได้ถึง 11,958 ล้านใบ หรือคิดเป็น 108,220 ตัน และเมื่อรวมกับการดำเนินโครงการอื่น ๆ ก็สามารถลดอันดับของประเทศไทยจากประเทศที่มีขยะสูงสุดเป็นอันดับ 6 ของโลก ให้มาอยู่ที่อันดับ 10 แต่ก็ยังต้องถือเป็นเพียงก้าวแรกของการทำงานเท่านั้น เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วปัญหาจากขยะและขยะทะเลยังไม่จบ วันนี้เรายังคงได้ยินข่าวการสูญเสียสัตว์จากการกินขยะพลาสติกเข้าไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันสู้ต่อไป


“ผมเชื่อมั่นว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้น จะเป็นอีกจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคต เพราะหากเราไม่ร่วมมือกันวันนี้ก็ไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะต้องมีเพื่อนของน้องมาเรียม หรือสัตว์อื่น ๆ ที่ต้องตายจากไปจากปัญหาขยะ โดยหลังจากนี้ผู้เกี่ยวข้องจะต้องไปคิดกันต่อว่าจะขยายผลความร่วมมือในลักษณะนี้ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปได้อย่างไร และที่สำคัญอยากขอความร่วมมือจากคนไทยทุกคนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองเพื่อลดขยะที่ไม่จำเป็นและขยะพลาสติกลงให้มากที่สุด เช่น การนำหลัก 3R Reduce, Reuse, Recycle มาใช้ในชีวิตประจำวัน แม้การลดใช้พลาสติกอาจทำให้ชีวิตเราไม่สะดวกในระยะแรก แต่มันคืนราคาที่คุ้มค่าที่เราควรจ่ายเพื่อรักษาโลกใบนี้ไว้ ต้องไม่ลืมว่าต้นตอขยะ คือ มนุษย์ ดังนั้นจึงอยู่ที่ตัวเราว่าจะยอมปล่อยให้พลาสติกเป็นปัญหาที่จะทำให้สภาพแวดล้อมโลกเลวร้ายลงต่อไปหรือไม่” นายวราวุธ กล่าว


ด้านนายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า บันทึกความร่วมมือ “ขับเคลื่อนตรังสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาขยะทะเลและอนุรักษ์” เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดตรัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา ภาคประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะทะเลและอนุรักษ์พะยูนตามแนวทางขับเคลื่อนตรังสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย


1.ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะทะเลจากต้นทาง โดยสำนักงาน สถานที่ราชการ ร้านค้า ตลาด สวนสาธารณะ และกิจกรรมการท่องเที่ยวปลอดขยะพลาสติกและโฟม ขับเคลื่อนครัวเรือนต้นแบบการจัดการขยะ การนำขยะจากกิจกรรมในทะเล เช่น เรือโดยสาร เรือประมง กลับคืนสู่ฝั่ง 2.พัฒนาระบบการคัดแยกขยะ จัดเก็บ และการขนส่งขยะ ให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล รวมทั้งสนับสนุนธุรกิจซื้อขายขยะรีไซเคิล 3.พัฒนามาตรการด้านการเงินการคลัง เช่น ระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียม หรือภาษีท้องถิ่น หรือภาษีสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย 4.พัฒนาการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำบรรจุภัณฑ์กลับสู่กระบวนการรีไซเคิล 5.ประสานความร่วมมืออนุรักษ์พะยูน คุ้มครองแหล่งที่อยู่อาศัย หญ้าทะเล และระบบนิเวศทะเล และ 6.พัฒนาและสนับสนุนกลไกความร่วมมือ อาสาสมัคร เครื่องมือ หรือกระบวนการในการจัดการ การติดตามและเฝ้าระวัง เพื่อแก้ไขปัญหาขยะทะเลและอนุรักษ์พะยูน ขับเคลื่อนตรังสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน


“ความร่วมมือครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจากประชาชนในจังหวัดตรัง โดยมีกลไกการทำงานที่สำคัญ คือ คณะทำงานขับเคลื่อนตรังยั่งยืนฯ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังมาเป็นประธานด้วยตัวเอง และมีตัวแทนจากภาคีความร่วมมือต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาขยะโดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่ง 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.สิเกา อ.กันตัง อ.ปะเหลียน อ.หาดสำราญ และ อ.ย่านตาขาว ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเกิดการอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเลให้เกิดความยั่งยืนต่อไป” อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าว
มนต์เจริญ ศรีมงคล จ.ตรัง