อธิบดี พช. ลงพื้นที่ร่วมกับอนุกรรมการฯ ตรวจติดตามการดำเนินงานการโคกหนองนาโมเดล ในพื้นที่ศรีสะเกษ
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับคณะติดตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคกหนองนาโมเดล และโครงการ 1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ ในโอกาสการลงพื้นที่ของคณะอนุกรรมการติดตามโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก ครั้งที่ 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2563 ณ จังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดอุบลราชธานี นำโดยนายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานฯ นายมนตรี ดีมานพ ผอ.สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและคณะ เพื่อติดตามความพร้อมการดำเนินงาน ศึกษาปัญหาอุปสรรค และให้คำแนะนำการดำเนินโครงการแก่ผู้เกี่ยวข้อง
โดยช่วงเช้าได้ลงพื้นที่แปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ของนางแหวน ลาดบาศรี บ้านหนองแค ต.หนองแค อ.ราษีไศล ซึ่งนางสาวนิพาดา ลาดบาศรี บุตรสาวของนางแหวน เป็นผู้นำเสนอข้อมูล มีนายจรินทร์ รอบการ พัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ น.ส.พิชชากร แจ่มศรี เกษตรและสหกรณ์จังหวัดศรีสะเกษ นายกิตติพงษ์ ลีลาศสง่างาม ประมงจังหวัดศรีสะเกษ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ นายภานรินทร์ ภาณุพินทุ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง นางผา กองธรรม นายกสมาคมคนทาม นายอุบล อยู่หว้า ที่ปรึกษาสมาคมคนทาม ได้ร่วมต้อนรับคณะและให้ข้อมูลและช่วงบ่ายลงพื้นที่แปลงพื้นที่ต้นแบบนางพรรณณี ต้อไธสง หมู่ 10 ต.เมืองหลวง อ.ห้วยทับทัน โดยมีนายอำเภอห้วยทับทัน ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน และหัวหน้าส่วนราชการอำเภอห้วยทับทัน ได้ร่วมต้อนรับและให้ข้อมูล โดยนางพรรณี ต้อไธสง เป็นผู้นำเสนอข้อมูลต่อคณะผู้ติดตาม
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ไม่ได้มาจับผิดแต่อย่างใด เป็นการมาเพื่อแลกเปลี่ยนและให้คำแนะนำในการดำเนินงาน ให้ประสบผลสำเร็จ บรรลุวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ สภาพัฒน์ฯ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการติดตามโครงการ ถือเป็นครั้งแรก เนื่องจากโครงการนี้มันไม่ใช่โครงการงบประมาณปกติ เป็นโครงการที่ขอจากงบเงินกู้ 4 แสนล้าน โครงการของกระทรวงเกษตรฯ และโครงการของกระทรวงมหาดไทย รวมเป็น 2 โครงการแรกที่ทางสภาพัฒน์อนุมัติ รวมแล้ว 1.4 หมื่นล้านบาท เราเป็นกังวลว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมีประโยขน์ต่อพี่น้องประชาชนถ้าไม่มีการติดตามดูแลให้ถูกต้องเหมาะสม ก็จะละลายหายไปแล้วจะถูกโจมตี เพราะเป็นโครงการเงินกู้ที่รัฐบาลต้องจ่ายดอกเบี้ย จะกลายเป็นสร้างปัญหาเพิ่มเติม ต้องทำแล้วคุ้มค่า เราจึงมีความเป็นกังวลว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจตรงกันหรือไม่ เพราะพื้นที่บางพื้นที่ก็จะมีทั้งผู้ที่เคยมีประสบการณ์และไม่มีประสบการณ์ ถ้าเจ้าหน้าที่ ประชาชน เกษตรกรไม่มีประสบการณ์ถือว่าอันตราย และระยะเวลาสั้นมาก 12 เดือน ถือเป็นเรื่องสำคัญ เราจะทำอย่างไรให้โครงการประสบความสำเร็จได้ จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาติดตามตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อจูนความคิดความเข้าใจให้ตรงกัน ซึ่งในที่ประชุมได้เห็นตรงกันว่าต้องมีการลงพื้นที่ติดตามงานเพื่อดูพื้นที่จริง เป็นการปรับจูนเพื่อให้ข้าราชการทำงานร่วมกับประชาชนได้ตามสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสม
ดังนั้น ในการทำงานถ้ามีอะไรติดขัดต้องบอกอย่าไปปกปิดเอาไว้ เป็นเรื่องที่ต้องจูนเข้าหากัน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ หรือ โคก หนอง นา โมเดล ก็ถือเป็นศาสตร์พระราชา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเดียวกัน แตกต่างกันที่รูปแบบการทำงานเท่านั้น ซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ดังนั้นผมก็อยากฝากทางเกษตรจังหวัด ทางพัฒนาการจังหวัด ให้ไปร่วมกัน แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน เพราะเป็นเรื่องยากสำหรับหน่วยใดหน่วยหนึ่ง ต้องช่วยกัน ร่วมมือกัน ยิ่งเป็นยุคโควิด ปัญหาเยอะไปหมด เราต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำประเทศไทยถึงจะอยู่รอด เพราะ 2 โครงการนี้ถือเป็นศาสตร์พระราชา ทำให้เราต้องพึ่งพาตนเองอย่าไปพึ่งพาต่างชาติ อย่างการปลูกผัก ปลูกกินเอง ขายเอง หรือนำมาแปรรูปทำเป็นสลัดใส่กล่องขาย ทำเป็นอาหารสำเร็จรูปแล้วขายผมมั่นใจว่าจะขายได้ราคาดี”ขอฝากโครงการนี้ดีแล้ว แต่วิธีการต้องให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงกับพื้นที่ ถ้ากฎเกณฑ์ข้อไหนไม่เอื้อ อนุกรรมการจะเสนอเข้า ครม.แก้ไขให้อำนวยความสะดวก เราต้องช่วยกันให้โครงการเกิดประโยชน์อย่างจริงจัง การดำเนินงานเปรียบเหมือนเรากลัดกระดุม หากสามารถกลัดกระดุมเม็ดแรกถูก ก็มีแนวโน้มที่ทุกอย่างจะสำเร็จได้โดยง่าย หากเรามีการเริ่มต้นที่ดี แต่ใช่ว่าในระหว่างทางจะไม่เกิดปัญหาขึ้น อาจมีกระดุมบางเม็ดที่หลุดหายไป เราก็ต้องสามารถแก้ปัญหา หากระดุมเม็ดใหม่มาติดแทนให้ได้ จึงขอเป็นกำลังใจให้ข้าราชการทำงานให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเราไม่ได้ทำงานแค่เพื่อกระทรวง กรม แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคืองานเพื่อประชาชน ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน เราทำเพื่อประชาชน ประชาชนก็ต้องร่วมมือกัน และขอให้คิดบวก ความคิดในทางบวกจะทำใหเรามีความสุข” นายเอ็นนู กล่าว
ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญในการที่จะน้อมนำศาสตร์พระราชา แนวพระราชดำริเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ มาปรับใช้ในการพัฒนาชีวิตของพี่น้องประชาชน เรื่องใหญ่เรื่องแรกเป็นเรื่องของคน การพัฒนาชีวิต เรื่องคนเป็นเรื่องใหญ่ก่อนที่จะมีเครือข่าย ตัวเรา ต้องมีความรู้ความเข้าใจ จากการลองผิดลองถูก “Learning by doing” สุดท้ายทำให้เราได้เรียนรู้ เรื่องใหญ่ของงบประมาณเงินกู้ที่กรมการพัฒนาชุมชน ได้รับจัดสรรพิจารณาจากรัฐบาลในการสนับสนุนจากสภาพัฒน์ฯ จำนวน 4,700 กว่าล้านบาท ขั้นต้นคือการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนก่อน คนที่จะทำ และคนที่จะช่วยแนะนำ เป็นเรื่องของเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจ คือข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน คนที่ทำโคก หนอง นา ประกอบไปด้วย คนที่เป็นเจ้าของแปลง และคนที่จะมาช่วยเจ้าของแปลง ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนรับสมัครงานอยู่ในขณะนี้ จะเป็นคนที่เคยติดคุกมาเราก็รับ เพราะเชื่อว่าทุกคนอยากจะทำความดี โดยกรมการพัฒนาชุมชนพร้อมให้โอกาสดี ๆ ไม่ว่าจะจบการศึกษาใด วุฒิอะไรเราก็รับได้หมด เพียงขอให้มีความตั้งใจ ซึ่งจะรับถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 นี้ ซึ่งทั่วประเทศ รับจำนวน 9,188 คน เหลือเพียง 3 จังหวัด ที่ยังรับสมัครไม่ครบตามจำนวน ได้แก่ ปทุมธานี ระยอง และกาญจนบุรี นอกจากนั้นสมัครเกินหมด ซึ่งจะครบแน่นอนในเร็ว ๆ นี้ เป้าหมายของกรมการพัฒนาชุมชน ไม่ได้เพียงต้องการจ้างลูกจ้าง แต่มองไปถึงการพัฒนาคน ที่ต้อง “Learning by doing” เพื่อที่จะน้อมนำศาสตร์พระราชาไปใช้ในชีวิตประจำวัน กรมการพัฒนาชุมชนหวังว่า คนที่มาเรียนรู้งาน ร่วมงานพัฒนาพื้นที่ตามทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล สามารถนำกลับไปปรับใช้ เป็นมนุษย์พอเพียง ที่สามารถน้อมนำศาสตร์พระราชาไปใช้ และไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นอาชีพอะไร สามารถสมัครได้ ตามที่ท่าน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราจะไม่ทิ้งใคร ไว้ข้างหลัง
สำหรับขั้นตอนต่อมา คือการเตรียมฝึกอบรม กรมฯ ได้จัดสรร โอนงบประมาณไปยังจังหวัดแล้ว กระบวนการขั้นตอนเป็นไปตามลำดับ อบรมก่อน ซึ่งจะสามารถออกแบบพื้นที่ของตนเองได้ ซึ่งมีแบบมาตรฐานที่ออกแบบ โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กับสมาคมศิษย์เก่าวิศวะ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกันออกแบบและรับรองแบบด้วย ขึ้นอยู่กับภูมิสังคม รสนิยม ของแต่ละพื้นที่แต่ละสังคม คนที่เข้าไปอบรมเสร็จแล้วนั้น เปิดโอกาสให้มีการออกแบบใหม่ได้ การลงมือปรับพื้นที่ งบประมาณได้จัดสรรจังหวัดแล้ว รายครัวเรือนจะไม่ต้องดำเนินการ e-bidding เพราะว่ารายครัวเรือน ปรับพื้นที่ครัวเรือนละ 1 – 3 ไร่ งบประมาณไม่เยอะ สามารถให้พี่น้องประชาชนเลือกใช้ผู้ประกอบการในท้องถิ่นได้ มีกิจกรรมเอามื้อ “ลงแขก” เจ้าของแปลง ต้องนำเงินงบประมาณไปประกอบอาหารเลี้ยงคนที่มาเอามื้อ คนที่มาช่วยกัน ลักษณะแบบนี้จะทำให้เงินหมุนเวียนอยู่ในตลาด ซื้อของจากในท้องถิ่นของตนเอง อันเป็นเป้าหมายตามที่รัฐบาลและสภาพัฒน์ฯ ต้องการ
โครงการเงินกู้ รอบที่ 1 อยู่ในงบ 4,700 ล้านบาท อยู่ในจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 1,050 แปลง สำหรับงบประมาณปี 2564 กรมการพัฒนาชุมชน จัดสรรงบประมาณ ซึ่งผ่านการกลั่นกรอง อนุมัติแล้ว 40 ล้านบาท 500 ครอบครัว กรมการพัฒนาชุมชนมั่นใจว่าการดำเนินตามรอยพระราชดำริ จะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น และเกิดความยั่งยืน งบประมาณรอบแรกนั้น กรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินกิจกรรมการฝึกอบรม บูรณาการทำงานร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกันทำงาน โดยงบประมาณปี 2563 กรมการพัฒนาชุมชนได้จัดฝึกอบรมผู้นำต้นแบบ จำนวนกว่า 1,500 คน และข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน ประมาณ 1,000 คน ปรับศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนให้เป็นศูนย์เรียนรู้ โคก หนอง นา โมเดล จำนวน 11 ศูนย์ บวกกับภาคีเครือข่ายของมูลนิธิกสิกรรม อีกกว่า 22 เครือข่าย
ทั้งหลายทั้งปวง ต้องเรียนทุกภาคส่วน ข้าราชการได้รับเงินเดือนจากภาษีประชาชน เป็นข้าราชการของประชาชน ผมมั่นใจว่าข้าราชการทุกท่านมีความปรารถนาที่จะทำความดีที่สร้างผลประโยชน์ให้กับประชาชน หรือที่เรียกว่า “passion” บางทีสภาพแวดล้อมหรือกาลเวลา ก็อาจทำให้อุดมการณ์ของคนภาครัฐเปลี่ยนไป ซึ่งในขณะนี้ประเทศชาติของเรา อยู่ท่ามกลางวิกฤติ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา “COVID-19”ซึ่งทำลายระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ในช่วงวิกฤติ กรมการพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน รณรงค์คนไทยทุกบ้านทุกครัวเรือน ปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อให้ทุกครัวเรือนมีความมั่นคงทางอาหาร อีกทั้งเค้นภูมิปัญญาไทย ในเรื่องของเครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าไทย ใส่ผ้าไทย อย่างจังหวัดศรีสะเกษ ใช้มะเกลือในการย้อมสีผ้า มีการพัฒนาสี ไม่ใช่แค่เพียงสีดำเท่านั้น ยังมีการตอบสนองรสนิยมของผู้คนได้ด้วย “เป้าหมายสูงสุดของโครงการ คือ เราอยากให้ทุกคนมีความมั่นคงในชีวิต หาเลี้ยงตัวเองได้ หาเลี้ยงลูกหลานได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายสุทธิพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับนางแหวน ลาดบาศรี อายุ 50 ปี และครอบครัว ทั้งสามี ลูกสาว และลูกเขย ได้ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ในที่ดิน จำนวน 9 ไร่ มีการดำเนินงานตามหลักทฤษฎีใหม่ ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำให้พออยู่พอกิน โดยนางนิพาดา ลูกสาวและลูกเขยได้เรียนรู้ทฤษฎีใหม่จากเครือข่ายและเรียนรู้ด้วยตนเอง ลองผิดลองถูก มาตลอด 2 ปี จนมีผลผลิตออกมาได้รับการยอมรับจากชุมชน
ด้าน นางพรรณณี ต้อไธสง อายุ 47 ปี บ้านเตาเหล็ก หมู่ที่ 10 ตำบล เมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่จำนวน 8 ไร่ 1 งาน เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเตาเหล็ก ครัวเรือนเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านเตาเหล็ก โดยมีฐานการเรียนรู้สวนเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรประณีต การทำเกษตรแบบอินทรีย์ มีรายได้ที่เกิดจากการดำเนินชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ เดือนละประมาณ 10,000 บาท โดยมีการปรับสภาพพื้นที่ ขุดสระ ทำคลองไส้ไก่ ปลูกป่า 5 ระดับ และคันนาทองคำ ซึ่งสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับสภาพพื้นที่ และสร้างสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน ได้สมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ของกรมการพัฒนาชุมชน โดยได้เข้ารับการอบรมเป็นผู้นำต้นแบบ ช่วงเดือนมกราคม 2563 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี และได้สมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 พื้นที่ 3 ไร่