สุพรรณบุรี   พระเอกลิเกแก้บนขนมเปียะ1000ชิ้นไอ้ไข่วัดเถรพลาย

สุพรรณบุรี   พระเอกลิเกแก้บนขนมเปียะ1000ชิ้นไอ้ไข่วัดเถรพลาย
ของาน ได้งาน ขอเงินได้เงิน ไอ้ไข่เด็กวัดเถรพลาย พระเอกลิเกชื่อดัง เมืองสุพรรณ มาขอพรไอ้ไข่ ให้มีงานการแสดง หลังจากประสบปัญหาไวรัสโควิดระบาด และประสบความสำเร็จ มีงานการแสดงอย่างต่อเนื่อง จึงได้นำขนมเปี๊ยะ 1,000 ชิ้นมาแก้บนไอ้ไข่ และร้องลิเก รำ แก้บนไอ้ไข่ และนำขนมเปียะที่นำมาแก้บนแจกจ่ายให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ที่มากราบไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์ภายในวัด ไปรับประทานกันเพื่อความเป็นสิริมงคล


ที่วัดเถรพลาย ต.วังน้ำซับ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี “กิตติภูมิ หอมหวน” หรือน้องเจมส์ ฉายาพระเอกดอกบัวตูม พระเอกลิเกชื่อดังเมืองสุพรรณบุรี นำขนมเปี๊ยะ1,000 ชิ้น มาแก้บนและ ร้องลิเกหน้ารูปปั้นไอ้ไข่ วัดเถรพลาย โดยน้องเจมส์ พระเอกลิเกเมืองสุพรรณ ได้เล่าให้ฟังว่าที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด19 ระบาด โดนเจ้าภาพ ขอยกเลิกงานทั้งหมดและพอหลังจากอธิฐานของานจากไอ้ไข่ จากนั้นก็มีเจ้าภาพติดต่อหาคณะลิเกไปทำการแสดงในงานต่างๆมากมาย


ก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสมาจุดธูปขอพรกับไอ้ไข่ วัดเถรพลาย ขอให้มีงานการแสดงมากๆ และขอให้ประสบความสำเร็จด้านหน้าที่การงาน การงานราบรื่น เพราะต้องเลี้ยงดูทีมงานภายในคณะกว่า 50 คน และได้เช่าบูชาแหวนไอ้ไข่ไปบูชาด้วย ส่วนตัวก็มีความศรัทธาไอ้ไข่อยู่แล้ว เชื่อว่าที่มีเจ้าภาพมาติดต่อว่าจ้างลิเก ให้ไปทำการแสดง เกิดจากปาฏิหาริย์ของไอ้ไข่ ที่ตนได้มาขอพรเอาไว้ จึงมีเจ้าภาพติดต่อหางานการแสดงเข้ามาไม่ขาดสาย จึงได้มาทำตามคำขอเอาไว้ นำขนมเปี๊ยะมาแก้บนและร้องกลอนลิเก รำ แก้บนไอ้ไข่ตามคำสัญญา ส่วนขนมเปี๊ยะที่นำมาแก้บนไอ้ไข่แล้ว ก็จะแจกให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ที่มากราบไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์ภายในวัด และผู้ที่มาขอพรไอ้ไข่ได้นำไปรับประทานกันเพื่อความเป็นสิริมงคล


น้องเจมส์เล่าต่ออีกว่า ได้เติบโตมากับคณะลิเกตั้งแต่เด็ก เพราะคุณพ่อเป็นลิเกเก่าและคุณพ่อยังเป็นลูกศิษย์คณะลิเกศิษย์หอมหวล ซึ่งตั้งแต่เด็กไม่เคยคิดว่าจะเล่นลิเกเพราะไม่ชอบเรื่องการแสดง จนกระทั่งมาถึงวันที่เปลี่ยนความคิดว่าอยากจะสานต่อลิเกของครอบครัว เพื่อจะอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านของไทย จึงเริ่มฝึกหัดร้องรำลิเกเอง จากทางยูทูปและครูผู้ใหญ่ลิเกหลายท่าน ที่คอยแนะนำให้ความรู้ทักษะต่างๆ จากนั้นน้องเจมส์ก็มาพัฒนา คณะลิเกมาประยุกต์ ทั้งเนื้อเรื่องให้กระชับ มีสีสันมากขึ้น ในการแสดงได้เพิ่มให้มีเอฟเฟค แสง สีเสียง ตูมตาม เพื่อให้ผู้ชมได้ชมลิเก เหมือนกับดูหนังในโรงภาพยนตร์ เพื่อปรับให้เหมาะสมกับยุคสมัย 5 จี เพื่อดึงให้เด็กและเยาวชนรุ่นหลังได้มาชมลิเกยุคใหม่ แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์ลิเกยุคตั้เดิมไว้ คือการแสดงลิเกยังต้องมีการขับร้องกลอน มีรำลิเก เช่นเดิม ตามแบบฉบับคณะศิษย์หอมหวล ที่มีท่ารำอ่อนช้อย สวยงาม ซึ่งปรากฏว่าปัจจุบัน มีวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ชื่นชอบการแสดงลิเก หันมาให้ความสนใจดูลิเกกันมากขึ้น
ภัทรพล พรมพัก สุพรรณบุรี