กาญจนบุรี เปิดโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า

กาญจนบุรี เปิดโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานศ.ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในการเพื่อเผยแพร่ความรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการบริหารจัดการโรคพิษสุนัขบ้าสู่ชุมชน


ที่โรงแรมไมด้า รีสอร์ท ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีกรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงโปรดให้ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์  ท่านเอกอัครราชทูต ร้อยโทชวัช อรรถยุกติ ออกตรวจเยี่ยมการดำเนินการโครงการสัตว์ ปลอดโรค  คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า โดยมี นายชำนาญ ชื้นตา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายเชิงชาญ พึ่งเจียม รักษาราชการแทนปศุสัตว์จังหวัดกาญจนบุรี ให้การต้อนรับณ ห้องประชุม โรงแรมไมด้า รีสอร์ท กาญจนบุรี อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ที่วัดเขื่อนท่าทุ่งนาประชาสรรค์ ตำบลของสะเดา อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี


สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีพระปณิธานให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทย ซึ่งโครงการสัตว์ปลอดโรคฯ มีการดำเนินงานตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2560 การดำเนินการเป็นการบูรณาการร่วมกันจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้หลักสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ในปี พ.ศ. 2561 มีประชาชนเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 18 ราย จากการดำเนินโครงการฯ. ได้เข้าจัดการแก้ไขปัญหา อุปสรรคต่างๆ จนเป็นผลให้ในปี พ.ศ. 2562 พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเพียง 2 ราย ทั้งนี้มีเป้าประสงค์ให้ไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย โดยองค์การอนามัยโลกมีพันธสัญญาให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดจากโลกในปีพ.ศ. 2573จังหวัดกาญจนบุรีเป็นพื้นที่เป้าหมายของการดำเนินโครงการฝึกอบรมแบบบูรณาการเพื่อเผยแพร่ความรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการบริหารจัดการโรคพิษสุนัขบ้าสู่ชุมชน

ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะสัตวแพทย์ศาสตร์และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วยกิจกรรมการฝึกอบรมแบบบูรณาการเพื่อเผยแพร่ความรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีการฝึกการอบรมสำหรับครู นักเรียน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากองค์การบริหารส่วนห้องถิ่น และตัวแทนชุมชน รวมถึงการออกหน่วยดูแล ฉีดวัคซีน และทำหมันให้แก่สัตว์เลี้ยง โดยหน่วย “สัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์” จาก คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโรงพยาบาลสัตว์ทิพย์พิมาน ร่วมกับ ปศุสัตว์จังหวัดกาญจนบุรี
ผู้รับเข้าร่วมอบรมประมาณ 200 คน เจ้าของสัตว์นำสัตว์เลี้ยงเข้ารับบริการเป็นจำนวนมาก
เกษร เสมจันทร์