รองนายกฯประวิตรน้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ สู่ โคก หนอง นา โมเดล

รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ นำทัพแก้จนด้วย TPMAP และน้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ สู่ โคก หนอง นา โมเดล มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิต บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำเพื่อความผาสุกของประชาชนสู่ประเทศชาติ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

วันที่ 9 ตุลาคม 2563
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมชี้แจงดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่ โดยการใช้ระบบบริหารจัดการข้อมูลจากระบบการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) โดยได้รับฟังการนำเสนอดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่ โดยมีนายชรัส บุญณสะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม พัฒนาการจังหวัดนครพนม ขอนแก่น อุทัยธานี เชียงรายและนครศรีธรรมราช ได้กล่าวรายงานการนำเอา TPMAP ไปใช้ชี้เป้าแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ผลดีควบคู่กับการขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่ครัวเรือนเพื่อสร้างความมั่นคงให้ประชาชนอย่างยั่งยืน

ในการนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายชยาวุธ จันทร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายนิติ วิวัฒน์วานิช ผู้อำนวยการสำนักบริหารการปกครองท้องที่ผู้แทนอธิบดีกรมการปกครอง นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงานสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หัวหน้าส่วนราชการ และ ประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือจากข้อมูลในระบบ TPMAP ณ ห้องประชุมแม่กลอง ศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม


กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เป็นหนทางที่จะสามารถแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ให้ประสบความสำเร็จและต่อเนื่อง โดยโครงการดังกล่าวยังสอดคล้องกับ โครงการ โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวังกรมราชทัณฑ์ ที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทาน ทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนภารกิจให้บรรลุตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่รัฐบาลกำหนดโดยให้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับแก้ไขปัญหาความยากจนตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลแล้วนั้น ยังถือได้ว่ามีพี่น้องประชาชนที่ยังมีความต้องการเข้าร่วมอีกจำนวนมาก เพื่อให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์มากขึ้น กรมการพัฒนาชุมชน จึงใครขอการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มเติมในระยะต่อไป เพื่อเป็นการสร้างแนวทางในการดำเนินชีวิตช่วยเหลือประชาชน ให้มีความสุขอย่างยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นำเสนอต่อท่าน พลเอก ประวิตร รองนายกรัฐมนตรีและที่ประชุมว่า “การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมระบบ TPMAP ที่พัฒนาโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) ด้วยการบูรณาการจากข้อมูลหลายแหล่ง เช่น ข้อมูล จปฐ. ที่ดำเนินการโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กระทรวงการคลัง ตลอดจนข้อมูลจากส่วนราชการอื่นๆ ทำให้เกิดฐานข้อมูลที่สามารถชี้เป้าในการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งแนวทางให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ได้ใช้ประโยชน์จากระบบ TPMAP เป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ไขความยากจนบูรณาการทุกภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ศาสนา ท้องถิ่น ท้องที่ และสถาบันการศึกษา ในลักษณะของประชารัฐร่วมมือกันขับเคลื่อนให้เกิดแนวทางการช่วยเหลือทุกมิติ
ในการนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชนบูรณาการร่วมกับกลุ่มสตรีทั่วประเทศ เสริมสร้างพลังกลุ่มสตรี สร้างงาน สร้างรายได้

โดยการสนับสนุนให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 14,188,166 คน สมาชิกสามารถกู้ยืมได้กลุ่มละ 200,000 บาท โดยการกู้ยืมนั้นเป็นการหมุนเวียน ไม่สูญเปล่า เป็นอีกกองทุนหนึ่งที่สำคัญ ที่ทางกรมการพัฒนาชุมชน ใคร่ขอให้รัฐบาลให้การสนับสนุน ผลักดัน เพราะยังมีสตรีที่มีความต้องการรับการพัฒนาอยู่เป็นอันมาก ดังนั้นการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความยากจนตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ให้ประสบ ความสำเร็จได้นั้น ต้องพัฒนาคนให้มีความรู้ในการดำรงชีวิตและสร้างหลักคิดการวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ถูกทาง พร้อมด้วยคุณธรรมให้เลิกแข่งขันหันมาแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหาทั้งความรู้ในทฤษฎีใหม่กว่า 40 ทฤษฎี ความรู้จากภูมิปัญญาพื้นบ้านและความรู้สมัยใหม่ที่นำมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับภูมิสังคมนั้นๆ และแสวงหาเครือข่ายองค์การภาคีในทุกหน่วยงานมาร่วมกันด้วยการรวมพลังเอามื้อสามัคคีสร้างวิถี โคก หนอง นา ภายใต้แนวคิด “หิ้วปิ่นโต ไปเอามื้อ ถือจอบเสียม พลิกฟื้นแผ่นดิน” ทำงานแบบบูรณาการโดยอาศัยศักยภาพจุดแข็งของแต่ละหน่วยงานมาขับเคลื่อนงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนทุกคนอย่างยั่งยืน

จากนั้น นายสุทธิพงษ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นำเสนอที่ประชุมต่อว่า ขอขอบพระคุณรัฐบาลสำหรับการประชุมชี้แจงดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่ซึ่งในวันนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดี เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แสงสว่างจากปลายอุโมงค์นั้นไม่เป็นเพียงแสงสว่างที่อยู่ปลายอุโมงค์ต่อไป แต่จะเป็นแสงที่สว่างไสวทั่วประเทศ ถ้าทุกภาคส่วนสามารถร่วมมือกัน ฝากท่านผู้ว่าราชการทุกจังหวัด เป็นตัวแทนรัฐบาลในการผนึกกำลังภาคีเครือข่ายในและนอกพื้นที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดย TPMAP จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการชี้เป้าแก้ไขปัญหาความยากจน สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต่อไป”

ในการนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการต่อที่ประชุมว่า การใช้ระบบการบริหารจัดการข้อมูลจากระบบการพัฒนาคนแบบชี้เป้า TPMAP มีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการ ต้องมีความรู้ความเข้าใจในส่วนนี้ก่อนว่าจะร่วมมือกันทำอย่างไรที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้ เมื่อมีความรู้ความเข้าใจแล้วจึงร่วมมือกันกันทำงานโดยหาพื้นที่เป้าหมาย ที่อยู่อาศัยในการที่จะเข้าไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นในทุกๆมิติ ทั้งด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข เป็นต้น

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประชาชนทุกเพศ ทุกวัย เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เนื่องจากประชาชนถือเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ฉะนั้นถ้าสามารถทำให้ประชาชนทุกคนหลุดพ้นจากความยากจนได้ประเทศชาติจะเจริญรุ่งเรือง ดังนั้นจึงต้องอาศัยข้าราชการทุกหมู่เหล่าร่วมมือร่วมใจกันทำงานให้กับประชาชนผู้ยากจน ผู้ยากไร้ พัฒนาคนให้มีอาชีพมีงานทำเพื่อนำแรงงานที่มีความสำคัญไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป ฉะนั้นการประชุมในวันนี้ได้รับทราบถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและปัญหาความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่โดยใช้ระบบการบริหารจัดการข้อมูลจากระบบการพัฒนาคนแบบชี้เป้า TPMAP ดังนั้นจึงขออนุญาตสั่งการดังนี้

– ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการใช้ระบบ TPMAP ในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่ โดยระดมความร่วมมือจากภาคีการพัฒนาต่างๆ เพื่อผลต่อความยั่งยืนในการพัฒนาคนไทย และดำเนินการพัฒนาข้อมูลในระบบ TPMAP ให้มีคุณภาพครอบคลุมมิติการพัฒนาต่างๆ และทุกพื้นที่ของประเทศโดยเฉพาะพื้นที่เขตเมือง
– ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดตั้งงบประมาณในการให้การแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
– ให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติยกร่างคำสั่งที่เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่
– ให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานและภาคีการพัฒนาต่างๆ ในการพัฒนาระบบTPMAP ให้มีข้อมูลและประเด็นการพัฒนาที่ครอบคลุมมิติการแก้ปัญหาความยากจนและมิติการพัฒนาต่างๆ


จากนั้น พลเอก ประวิตร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ต้องขอขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างจริงจังและต่อเนื่องตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขเพื่อให้ประเทศชาติ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดไป

โดยหลังจากการประชุม พลเอก ประวิตร รองนายกรัฐมนตรี ได้พบปะเยี่ยมเยียนประชาชนครัวเรือนเป้าหมายที่ได้รับความช่วยเหลือจากข้อมูลในระบบ TPMAP และเยี่ยมชมนิทรรศการแก้ไขปัญหาความยากจนของ 6จังหวัด และเยี่ยมชมนิทรรศการหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ สู่ โคก หนอง นา โมเดล ของกรมการพัฒนาชุมชนอีกด้วย