นายกฯ เปิดงาน “อาชีวะยกกำลัง2” พัฒนาทักษะสู่ความเป็นเลิศ สอดรับตลาดแรงงานทั้งในและนอกประเทศ
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 7 ตุลาคม 2563 ณ ห้องประชุมปทุมมาศ อาคารเฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี ถนนรังสิต-ปทุมธานี อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดงาน “การขับเคลื่อนนโยบาย อาชีวศึกษายกกำลังสอง” โดยมี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.อำพล บัวรับพร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 พล.ต.ต.ชยุต มารยาทตร์ ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน ปลัดจังหวัดปทุมธานี คณะผู้บริหารภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษ ความตอนหนึ่งว่า การศึกษาและการพัฒนามนุษย์เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างชาติ สร้างประเทศ ผลิตบุคลากรให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน คนไทยสามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง มีรายได้ และสามารถยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของตนเองและครอบครัวได้ ซึ่งการจัดงานดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาและอาชีวะไทย รวมทั้งยังเป็นการเสริมสร้างและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ให้ได้มีโอกาสทบทวนองค์ความรู้ในการปฏิบัติงานด้านวิชาชีพที่เป็นระดับสากลและทันสมัย ตลอดจนสามารถนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์
นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า การผลิตบุคลากรให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน ยังเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ จำเป็นต้องปรับรูปแบบให้สอดรับกับบริบทโลก และทันต่อการเปลี่ยนแปลง พัฒนาให้เกิดความเป็นเลิศ และมีฝีมือในสาขาวิชาชีพ ตลอดจนมีทักษะที่เป็นที่ต้องการ และมีความคิดสร้างสรรค์นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยรัฐบาลมีหน้าที่ในการแก้ไข ขจัดปัญหาและอุปสรรค ที่เป็นสิ่งกีดขวางการดำเนินภารกิจด้านการศึกษา รวมถึงด้านการจัดสรรงบประมาณ หากคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องปรับรูปแบบ ปรับแนวทางการบริหารการใช้จ่ายเงินงบประมาณให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รัฐบาลก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุน เช่นเดียวกับปัญหาอื่น ๆ ที่เป็นข้อติดขัดในการขับเคลื่อนด้านการศึกษา ให้เดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว และคล่องตัวมากขึ้น
ทั้งนี้ ความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วน จะเป็นสิ่งสำคัญในการร่วมกันผลิตกำลังคนอาชีวะทักษะสูง ที่เข้าถึงความต้องการที่เกิดขึ้น และตอบโจทย์ประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การพัฒนาอาชีวศึกษาในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของประเทศไทย จากการมีบุคลากรที่มีองค์ความรู้ พร้อมต่อการปฏิบัติงาน และสามารถปฏิบัติงานได้จริง และยังสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมพัฒนาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งในระยะยาวจะช่วยให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายหลังพิธีฯ นายกรัฐมนตรีชมนิทรรศการอาชีวะยกกำลังสอง ณ บริเวณภายในห้องประชุมปทุมมาศ อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ อาทิ เทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล (Digital Business Technology) หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Industrial Robotics) นวัตกรรม เกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming) และรถยนต์ไฟฟ้า ELECTRIC VEHICLE (EV)กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศพร้อมขับเคลื่อนอาชีวศึกษายกกำลังสอง “สู่มิติใหม่อาชีวศึกษาไทย” มุ่งผลิตและพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) ด้วยศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center: HCEC) เพื่อยกระดับศักยภาพกำลังคนอาชีวศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานของประเทศ พร้อมโชว์ศักยภาพกระแสตอบรับ จากผู้ประกอบการชั้นนำระดับประเทศและระดับโลก
โดยเข้ามาช่วยพัฒนาหลักสูตร แบบ 1 เอกชนต่อ 1 วิทยาลัย ใน 7 สายงานหลัก รวม 32 แห่ง ตั้งเป้าจัดตั้งศูนย์ HCEC อาชีวศึกษา 50 แห่ง สิ้นปี 2563 และครบ 100 แห่ง ในปี 2564 ประกาศความพร้อมในการสร้างกลไกขับเคลื่อนอาชีวศึกษายกกำลังสอง ด้วยศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center: HCEC) ของอาชีวศึกษา เพื่อผลิตและพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) สู่ความเป็นเลิศและยั่งยืน สอดคล้องกับแผนงานการปฏิรูปการศึกษายกกําลังสอง โดยมุ่งเน้นให้กระบวนการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันอาชีวศึกษา ซึ่งจำเป็นต้อง “ปลดล็อก” จากการเรียนการสอนในรูปแบบเดิมที่ไม่ตอบโจทย์การทำงาน ที่ก่อให้เกิด Skill Gap หรือปัญหาช่องว่างทางทักษะที่ไม่เพียงพอต่อการทำงานจริง โดยต้อง “ปรับเปลี่ยน” เชื่อมโยงความรู้และทักษะที่จำเป็น และสอดคล้องเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศ และ “เปิดกว้าง” ด้วยการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการเตรียมความพร้อมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนกำลังคนในทุกมิติสู่ความเป็นเลิศในแต่ละด้าน เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน ที่ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมต้องการ ตลอดจนเป็นการเพิ่มพูนทักษะกับมืออาชีพในสถานที่จริง เพื่อให้ได้ศักยภาพแรงงานที่ตรงกับความต้องการ และมีความเป็นเลิศอย่างแท้จริง
โดยที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาได้มอบหมายนโยบาย ในการสนับสนุนให้สถาบันอาชีวศึกษาผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ ตามความเป็นเลิศของสถานศึกษา และตามบริบทของพื้นที่ โดยต้องสอดคล้องกับความต้องการด้านแรงงานของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานภาคเอกชน สถานประกอบการ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและตั้งศูนย์ HCEC อาชีวศึกษา ให้เป็นอาชีวศึกษาเฉพาะทางตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ เพื่อบริหารจัดการการเรียนรู้ตามแนวทาง Constructionism, Project Based Learning Authentic Assessment ผ่านองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนการเพิ่มพูนทักษะประสบการณ์จากการเรียนในสถานที่จริง หรือสถานการณ์จริง เพื่อยกระดับความสามารถของผู้เรียน และผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอาชีวศึกษา ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันทั้ง Hard Skills ทักษะความเชี่ยวชาญที่ทำงานได้ทันที และมี Soft Skills ทักษะด้านความคิดและอารมณ์ ที่สอดคล้องกับโลกของการทำงาน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในอนาคต
ทั้งนี้ สถาบันอาชีวศึกษาได้รับการสนับสนุนจากสถานประกอบการชั้นนำทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก ตลอดจนภาคเอกชนจากสาขาอาชีพต่างๆ ในการผลิตและพัฒนากำลังคน ในสาขาที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน ด้วยการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาพัฒนาเป็นหลักสูตรอาชีวศึกษาเฉพาะทาง แบบ 1 เอกชน ต่อ 1 วิทยาลัย ใน 7 สายงานหลัก ได้แก่ ปิโตรเคมี (Petrochemical), เทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล (Digital Business Technology), หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics), เกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming), อุตสาหกรรมการบิน (Aviation Industry), อุตสาหกรรมระบบราง (Railway Industry) และยานยนต์สมัยใหม่ (Next Generation Automotive), และ ธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality Industry) ซึ่งในขณะนี้ ได้รับความร่วมมือในการช่วยกันพัฒนาและยกระดับการจัดการอาชีวศึกษาจากสถานประกอบการชั้นนำ แล้วกว่า 32 แห่ง และตั้งเป้าหมายจะได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศอาชีวศึกษา ให้ครบ 50 แห่งในสิ้นปี 2563 และในปี 2564 ครบ 100 แห่งทั่วประเทศ
“ศูนย์ HCEC อาชีวศึกษา มีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนานักเรียนอาชีวะ บุคลากรทางการศึกษา และครู ให้เข้ามาใช้ในการ Up-skills และ Re-skills โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา เพื่อทำให้วิทยาลัยมุ่งสู่ความเป็นเลิศ จะสามารถสร้างฐานทุนมนุษย์ (Human Capital) ที่มีศักยภาพ สามารถเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และมีทักษะชีวิตที่พร้อมปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 นี้ได้อย่างแข็งแกร่ง มั่นคง และยั่งยืน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็จะได้กำลังคนที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการ เมื่อภาคอุตสาหกรรมแข็งแกร่ง ประเทศไทย จะมีศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น”