สุพรรณบุรี พุทธศาสนิกชนร่วมตักบาตรเทโวขนมครก8สีวัดเถรพลายหนึ่งเดียวในไทย
ที่วัดเถรพลาย ต.วังน้ำซับ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยว แห่ร่วมประเพณี ตักบาตรเทโว ขนมครก 8 สี หนึ่งเดียวของประเทศไทย มีพระสงฆ์อออกรับบิณฑบาต ขนมครก 8 สี และข้าวสารอาหารแห้ง บริเวณรอบพระอุโบสถทรงจัตุรมุข แห่งแรกของ จ.สุพรรณบุรี โดยมีขบวนแห่หลวงพ่อโตนำหน้า ตามด้วยรูปหล่อของหลวงพ่อสน อดีตเจ้าอาวาสและพระภิกษุสงฆ์ ต่อมาเป็นขบวน เทวดา นางฟ้า ยมทูต และปิดท้ายด้วยขบวนของเปรตเด็ก ๆ ต่างพากันส่งเสียงกรีดร้องขอส่วนบุญด้วยเสียงดังอย่างโหยหวน เพื่อเรียกร้องความสนใจ ให้ผู้ที่มาทำบุญหันมาร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับเปรต ประชาชนและนักท่องเที่ยวนำสิ่งของและเงิน ทำบุญให้เปรตจำนวนมาก
พระครูพิสุทธิรัตนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเถรพลาย เปิดเผยว่าประวัติความเป็นมาของประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะด้วยขนมครก 8 สี ที่มีหนึ่งเดียวของประเทศไทย ตามตำนานเล่าขานของผู้เฒ่าผู้แก่ว่า ชาวบ้านวัดเถรพลาย มีความเลื่อมใสศรัทธา หลวงพ่อโต ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ที่ศักดิ์สิทธิ์ อายุเกือบ 400 ปี ที่ผ่านมาชาวบ้านมักจะบนบานศาลกล่าวหลวงพ่อโต ด้วยขนมครก เพราะ ขนมครก สะกดด้วยตัวอักษร ค-ร-ก มีความหมายคือ คน-รัก-กัน มีความเชื่อว่าอานิสงส์ของการตักบาตรขนมครก ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาและมนุษย์ ช่วงเทศกาลเข้าพรรษาแก้บนไม่ได้ พอถึงเทศกาลออกพรรษา ชาวบ้านก็จะแก้บนหลวงพ่อโตด้วยขนมครก ดังนั้นอาตมาพร้อมด้วยคณะกรรมการวัดและชาวบ้านวัดเถรพลาย จึงได้ฟื้นฟูประเพณีตักบาตรขนมครก และได้ริเริ่มภูมิปัญญาชาวบ้านด้วยการทำขนมครก 8 สี จากวัตถุดิบจากธรรมชาติ เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั่วทั้งประเทศได้รู้จักชุมชนวัดเถรพลายมากยิ่งขึ้น และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวอำเภอศรีประจันต์ มากยิ่งขึ้น
สำหรับการทำขนมครก 8 สี ตามสูตรโบราณ จะเลือกใช้สีจากธรรมชาติ ประกอบด้วย 1.สีขาวทำจากมะพร้าว 2.สีเหลืองทำจากฟักทอง 3.สีแดงทำจากกระเจี๊ยบ 4.สีส้มทำจากมะตูม 5.สีม่วงทำมาจากเผือก 6.สีเขียวทำจากใบเตย 7.สีชมพูทำจากดอกกุหลาบสีชมพู และ 8. สีฟ้าทำจากดอกอัญชัน ขนมครกสูตรโบราณ จะใช้แป้งโม่เองแบบโบราณ กะทิก็ใช้มะพร้าวขูดด้วยกระต่ายมือแบบสมัยโบราณ เพื่อเป็นการย้อนยุคและอนุรักษ์ให้เยาวชนรุ่นหลัง ได้ศึกษาเรียนรู้วิธีการทำขนมครกสูตรโบราณ ที่สำคัญขนมครกจะทำมาเป็นคู่ จะทำให้คู่รักและคนที่รักกัน อยู่คู่กันแบบขนมครก จะได้ไม่พรากจากกันตลอดไป เป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูประเพณีไทยโบราณไม่ให้หายไป เพื่อเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูประเพณีโบราณให้อยู่คู่กับชาวบ้านและชุมชนตลอดไป
ภัทรพล พรมพัก /สุพรรณบุรี