อธิบดี พช.มอบประกาศเกียรติคุณข้าราชการเกษียณอายุราชการ และเชิดชูเกียรติบุคลากรดีเด่น พร้อมน้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ขับเคลื่อนงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน สู่เป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนมีความสุขอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีมอบโล่รางวัล ประกาศเกียรติคุณ และเข็มเชิดชูเกียรติ ข้าราชการที่ปฏิบัติงานครบเกษียณอายุราชการ ประจำปี พ.ศ.2563 จำนวน 23 รางวัล ,ข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2562 (ครุฑทองคำ) จำนวน 2 รางวัล ,ข้าราชการ ลูกจ้างประจำและพนักงานราชการดีเด่น ประจำปี 2563 (ทองคำ) จำนวน 10 รางวัล ,หน่วยงานพัฒนาชุมชนใสสะอาด “ต้นแบบ” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 8 รางวัล ,หน่วยงานพัฒนาชุมชนใสสะอาดดีเด่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 17 รางวัล ,บุคคลต้นแบบ “การน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีสู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” จำนวน 16 รางวัล และ รางวัลประกวดภาพถ่ายปฏิบัติการ 90 วัน “ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” จำนวน 3 รางวัล โดยมี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมการพัฒนาชุมชน เข้าร่วมพิธี ณ โรงแรมอิงธารรีสอร์ท ตำบลหินตั้ง อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก
ในโอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุม กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ผู้บริหารกับการคิดวิเคราะห์และการเสริมสร้างพลังเครือข่ายเชิงยุทธศาสตร์” โดยน้อมนำพระราชดำรัสของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชดำรัสว่า “เกษียณอายุราชการได้ แต่อย่าเกษียณจากการทำงาน” โดยกล่าวฝากข้าราชการทุกท่านที่ครบเกษียณอายุราชการในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นบุคลากรที่มีคุณูปการต่อการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนจนประสบความสำเร็จ เมื่อทุกท่านพ้นจากตำแหน่งหน้าที่แล้วจึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่ทุกท่านจะช่วยเป็นแรงหนุนและให้กำลังใจพี่น้องกรมการพัฒนาชุมชน ที่จะต้องปฏิบัติภารกิจเพื่อพี่น้องประชาชน และประเทศชาติต่อไป
อธิบดีกรมการพัฒนาชุม กล่าววว่ากรมการพัฒนาชุมชน ให้ความสำคัญกับบุคลากรทุกตำแหน่งต่างเป็นกลไกในการสานประโยชน์สู่ประชาชน ขอฝากหลักการที่จะสร้างหมุดหมายของความสำเร็จในการทำงานทุกประการให้สำเร็จลุล่วง คือ ต้องมีใจที่มุ่งมั่นปรารถนาในการสร้างคุณประโยชน์อย่างแรงกล้า ตลอดจนมีความรู้และทัศนคติที่ดีจะนำสู่ความสำเร็จในภารกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานเพื่อพี่น้องประชาชน อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือการดำเนินการเชิงมวลชนสัมพันธ์ การประชาสัมพันธ์ในภารกิจของกรมการพัฒนาชุมชนทุกมิติ ต้องนำสู่การรับรู้ของสังคม ให้น้ำหนักกับทุกภารกิจเด่นชัดเท่ากัน
กลไกขับเคลื่อนที่สำคัญในส่วนนี้ต้องเริ่มที่บุคลากร หน่วยงานทุกภาคส่วนของกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกันติดตาม เผยแพร่ข่าวสารสู่วงกว้าง และสำรวจทัศนคติจากคนภายนอกองค์กร อาศัยภาคีเครือข่ายความร่วมมือที่ดีในการร่วมกันกระจายในทุกสื่อ ทุกช่องทาง เพราะการประชาสัมพันธ์ที่ดี เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่นอกเหนือจากการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในใจคนแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสในการส่งเสริม พัฒนาบุคลากรของกรมการพัฒนาชุมชน ยกระดับศักยภาพในการเป็นนักสื่อสารสร้างสรรค์องค์การอย่างเต็มประสิทธิภาพ และเอื้อต่อการสร้างความไว้วางใจในการร่วมมือเป็นทีมกับทุกภาคส่วน ซึ่งการได้มาซึ่งทีมที่ดีนั้น ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชนจะต้องเป็นดังแม่เหล็ก ที่สามารถดึงดูด ยึดโยงความร่วมมือจากภาคีได้ทุกขณะ ไม่ห่างเหินหรือละเลยมวลชน
อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ได้น้อมนำหลักทฤษฎีกว่า 40 ทฤษฎี ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนชน โดยท่านพัฒนาการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ โดยชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ในการดำเนินโครงการ เช่น การปลูกป่า 3 อย่าง แต่ให้ประโยชน์ 4 อย่าง หลุมขนมครก การห่มดิน การดูทิศทางดิน น้ำ ลม ไฟ รวมถึงการกักเก็บน้ำและการบำบัดน้ำต่างๆ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อ พัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญในการดำเนินโครงการต้องเริ่มจากการพัฒนาคนเป็นอันดับแรก โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักทฤษฎีใหม่และสามารถนำองค์ความรู้มาแปลงสู่การปฏิบัติได้ โดยการให้ฝึกออกแบบพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล โดยใช้ทฤษฎีการดูทิศทางดิน น้ำ ลม ไฟ ตามบริบทในแต่ละสภาพพื้นที่ จากนั้นเมื่อออกแบบพื้นที่เสร็จ ต้องลงมือปฏิบัติในพื้นที่จริง โดยมีศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนทุกแห่งเป็นพื้นที่ต้นแบบเป็นสถานที่เรียนรู้ และฝึกปฏิบัติ โดยศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนต้องฝึกอบรมให้ความรู้กับบุคลากรของกรมให้เป็น นักวิจัย เช่น การเก็บฐานข้อมูลต่างๆ ก่อนปฏิบัติ ในขณะปฏิบัติ และข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน เพื่อจัดทำฐานข้อมูลเพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถเป็นข้อมูลเชิงวิชาการที่สำคัญของประเทศ และทำให้เกิดความหนักแน่นในการสร้างความมั่นใจการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ให้เต็มพื้นที่ทั่วประเทศอีกด้วย
นอกจากนี้เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี กรมการพัฒนาชุมชน ในปี พ.ศ.2565 กรมการพัฒนาชุมชนจะกลายเป็น หนึ่งเดียวในโลก ที่จะเป็นศูนย์เรียนรู้รวมหลักทฤษฎีมากกว่า 40 ทฤษฎี รวมเป็นหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” บนพื้นที่กว่า 700 ไร่ ในจังหวัดนครนายก โดยมีสถาบันการพัฒนาชุมชน เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับภาคการศึกษา โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้หลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์แห่งแรกของโลกต่อไป
“กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ขอขอบคุณทุกท่าน ที่ได้สร้างคุณงามความดีให้กับกรมการพัฒนาชุมชนและประชาชนในหมู่บ้าน ตำบลมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน และขอแสดงความชื่นชมยินดีกับข้าราชการดีเด่นทุกท่าน ที่ได้ช่วยกันปฏิบัติงานตามภารกิจหน้าที่ ตามที่ได้รับมอบหมายจนประสบผลสำเร็จ เป็นที่ยอมรับของเพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชา การประกาศเกียรติคุณในวันนี้ จึงถือได้ว่าท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับกรมการพัฒนาชุมชนจนเป็นที่รู้จักยอมรับของบุคคลทั่วไป และหน่วยงานต่างๆ จึงขอให้ผลของการปฏิบัติดีนี้ครั้งนี้ขยายผลต่อไป” อธิบดี พช.กล่าว