ตรัง จัดโครงการซ้อมแผนอพยพและเตือนภัยสึนามิพร้อมกันใน6จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน

สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจ.ตรัง จัดโครงการซ้อมแผนอพยพและเตือนภัยสึนามิพร้อมกันใน 6 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามันรวม 5 ภาษาคือไทย เยอรมัน อังกฤษ ญี่ปุ่นและจีนเพื่อพร้อมรับมือหากเกิดคลื่นสึนามิและภัยพิบัติต่าง ๆ ขึ้น โดยหอเตือนภัยยังคงส่งสัญญาณเสียงได้ตามปกติ

ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว บ้านแหลมมะขาม หมู่ที่ 5 ต.เขาไม้แก้ว อ.สิเกา จ.ตรัง วันนี้มีการซ้อมแผนแจ้งเตือนภัยและอพยพประชาชนกรณีเกิดคลื่นสึนามิขึ้นพร้อมกันใน 6 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามันได้แก่ ตรัง สตูล กระบี่ ระนอง ภูเก็ตและพังงา รวม 5 ภาษาคือภาษาไทย จีน อังกฤษ เยอรมันและญี่ปุ่น โดยมีนายไพบูลย์ โอมาก รองผู้ว่าราชการจ.ตรังเป็นประธานในพิธี มีนายอาชวงศ์ สาริพัฒน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจ.ตรัง กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการดังกล่าวว่า ตั้งแต่มีการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มชายฝั่งใน 6 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามันเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 บริเวณเกาะสุมาตราทำให้มีผู้เสียชีวิตในประเทศไทยกว่า 5 พันคนและมีผู้สูญหายอีกกว่า 2 พันคน ไม่นับรวมทรัพย์สินต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งภาพเหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่เลือนหายไปจากความทรงจำของหลาย ๆ คน ทั้งที่ประสบด้วยตัวเองและที่รับรู้ผ่านสื่อต่างๆ


กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงกำหนดจัดการฝึกซ้อมแผนอพยพประชาชนขึ้นอย่างต่อเนื่องพร้อมกันทั้ง 6 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามันเป็นประจำทุกปี ในส่วนของจังหวัดตรัง ก็มีการฝึกซ้อมแผนฯ โดยจัดขึ้นที่บ้านแหลมมะขาม หมู่ที่ 5 ต.เขาไม้แก้ว อ.สิเกา ซึ่งหอเตือนภัยตั้งอยู่ที่โรงเรียนแหลมมะขาม การฝึกซ้อมมีการแจ้งเตือนว่าเกิดแผ่นดินไหวที่บริเวณเกาะสุมตรา ขนาด 8.9 ริกเตอร์ อาจทำให้เกิดคลื่นสึนามิ ซึ่ง 6 จังหวัดฝั่งอันดามันจะได้รับผลกระทบ จากนั้นได้มีการประกาศเตือนภัยว่าเกิดคลื่นสึนามิขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยง ไปยังจุดที่ปลอดภัยที่มัสยิด ซึ่งสามารถรองรับประชาชนได้จำนวน 500 คน การฝึกซ้อมเพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มศักยภาพของหน่วยงาน รวมทั้งเป็นการทดสอบจุดบกพร่องและช่องว่างในการปฏิบัติงาน เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงหากเผชิญสถานการณ์จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรับมือภัยพิบัติในรูปแบบต่าง ๆ เช่นแผ่นดินไหวและไฟไหม้ได้อีกทางหนึ่งด้วย

โดยที่จ.ตรังมีกลุ่มเป้าหมายคือเยาวชน นักเรียนนักศึกษาและประชาชนในพื้นที่กว่า 300 คนในพื้นที่เสี่ยง ร่วมฝึกซ้อมแผนดังกล่าว ระหว่างวันที่ 8-9 กันยายนนี้ ซึ่งจะมีการสรุปการซ้อมแผนอพยพ เพื่อนำไปพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสัญญาณเตือนภัยสึนามิทุกจุดยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถวางใจได้ ทั้งนี้ที่จังหวัดตรังมีการติดตั้งหอเตือนภัย ทั้งหมด 25จุด ใน4 อำเภอ คือ อำเภอปะเหลียน อำเภอสิเกา อำเภอกันตัง และอำเภอหาดสำราญ
มนต์เจริญ ศรีมงคล จ.ตรัง