กระทรงเกษตรและสหกรณ์ ขอเชิญชวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อเป็นแหล่งอาหาร และเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2-19 (โควิด -19 )
นายจรูญศักดิ์ สุขขุม เกษตรและสหกรณ์จังหวัดตรัง กล่าวว่า โครงการ 1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นโครงการแก้วิกฤติจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2-19 (โควิด -19 ) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นว่าเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ต้องสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร จะแก้ปัญหาด้านอาหารการกินและแก้ปัญหาต่างๆได้ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2-19 (โควิด -19 ) พบว่าเกษตรกรบางส่วนและพี่น้องที่ใช้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างก็เดินทางกลับบ้าน และขณะนี้ยังไม่มีงานทำ จึงเสนอโครงการ 1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติได้เห็นชอบในโครงการดังกล่าวนำเสนอต่อรัฐบาล และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ใน 1 กลุ่ม (16 ราย) ต่อ 1 ตำบล ซึ่งจังหวัดตรังมี 87 ตำบล สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดตรัง ดำเนินโครงการจำนวน 29 ตำบล ส่วนที่เหลือเป็นของสำนักงานพัฒนาชุมชนเป็นผู้ดำเนินการ โครงการดังกล่าวดำเนินการใน 2 หน่วยงานคือสำงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดตรังและสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดตรัง แต่ใช้ชื่อโครงการที่แตกต่างกัน โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนดำเนินโครงการโคก หนอง นาโมเดล ส่วนสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดตรัง ดำเนินโครงการ 1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรทฤษฎีใหม่นั้นเป็นที่ทราบกันแล้วว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานไว้ มีกิจกรรม 4 กิจกรรมหลัก 1.ต้องมีแหล่งน้ำ 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ 2.นา จำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ 3.ต้องปลุกพืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น หรือคอกสัตว์ จำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ 4.ที่อยู่อาศัย 10 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับความช่วยเหลือด้านการขุดสระ ปัจจัยการผลิต และที่สำคัญคือองค์ความรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ การวางการผลิต ที่จะได้รับจากวิทยากรที่จะถ่ายทอดให้กับเกษตรกร 16 รายใน 1 ตำบล และเกิดเป็นศูนย์เรียนรู้
ซึ่งเกษตรกรจะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ต่อให้กับเกษตรกรรายอื่นๆต่อไป คุณสมบัติของผู้ที่เข้าร่วมโครงการต้องมีเป็นเกษตรกรผู้ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร ผู้ที่ได้รับผลกระทบทำให้เกิดการว่างงาน อาสาสมัครของกระทรวงเกษตรฯ มีอายุตั้งแต่ 18-60 ปี พื้นที่แปลงเดียวกัน 3 ไร่ขึ้นไป มีเอกสารสิทธิ์เป็นของตนเอง หากเช่าพื้นที่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดิน ปละผู้ที่เข้าร่วมโครงการต้องทำกิจกรรมเกษตรทฤษฎีใหม่อย่างน้อย 7 ปี เนื่องจากที่ผ่านมา นั้นเมื่อเกษตรกรได้รับความช่วยเหลือแล้วแต่ทำได้เพียง1-2 ปีก็เลิกทำ ทำให้สูญเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการต้องอยู่ในพื้นที่เพื่อดำเนินกิจกรรมให้สำเร็จลุล่วง โดยเกษตรกรสามารถสมัครด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ http://ntag.moac.go.th /หรือยื่นใบสมัครกับเจ้าหน้าที่เกษตรตำบลที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม – 9 กันยายน พ.ศ.2563
มนต์เจริญ ศรีมงคล จ.ตรัง