สมุทรสาคร เจ้าของห้อง เข้าขนย้ายสิ่งของมีค่า ขณะที่ อบต.ประกาศพื้นที่อันตราย

เจ้าของห้อง เข้าขนย้ายสิ่งของมีค่า ขณะที่ อบต.ประกาศพื้นที่อันตราย
เมื่อเวลา 14.30 น. ของวันที่ 20 สิงหาคม 2563 ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้เปิดเผยว่า หลังจากที่ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ เพื่อตรวจวัดประเมินว่าตัวอาคารหอพักมีความเสี่ยงเกิดการทรุดตัวลงอีกหรือไม่ ซึ่งก็พบว่ามีการทรุดลงอีกเล็กน้อย แต่ยังพอจะสามารถให้คนเข้าไปเก็บข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นออกมาได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องเข้าไปทีละคนสองคนเท่านั้น ไม่สามารถเข้าไปพร้อมกันได้ทั้งหมด ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ นายวัฒนา แตงมณี นายก อบต.พันท้ายนรสิงห์ ที่จะจัดเจ้าหน้าที่ชุดกู้ภัยฯพร้อมทีมงาน เข้าไปกับเจ้าของห้องแต่ละห้องเพื่อขนย้ายข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นและมีค่าออกมาก่อน ส่วนที่เหลือเจ้าหน้าที่ อบต.พันท้ายนรสิงห์ จะเข้าขนย้ายให้ในภายหลัง ซึ่งหลังจากที่การประเมินเสร็จสิ้น ทาง อบต.พันท้ายนรสิงห์ก็ได้มีการวางแผนการปฏิบัติงานกันภายใต้คำสั่งของนายวัฒนา แตงมณี นายก อบต.พันท้ายนรสิงห์ ในฐานะหัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุห้องเช่าทรุดตัว โดยอันดับแรกได้ประเมินเรื่องของการถ่วงดุลน้ำหนักตัวอาคาร 2 ฝั่งก่อน ถ้าต้องรับน้ำหนักเพิ่มจะต้องเดินอย่างไร จากนั้นก็เริ่มขนย้ายสิ่งของภายในห้องทางซีกด้านขวา 5 ห้องเพราะทรุดตัวน้อยที่สุดโดยขนย้ายจากชั้นบนไล่ลงมาชั้นล่างสุด เสร็จแล้วก็ทำการประเมินอีกรอบเพื่อขนย้ายในลักษณะเดียวกันทางซีกด้านซ้ายที่มีการทรุดตัวมาก ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาจนถึงประมาณ 4 – 5 ชั่วโมง ก็จะขนย้ายจนเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยทุกห้อง ส่วนการจัดเตรียมกำลังคนนั้น ได้กำหนดเป็นเจ้าหน้าที่ 1 คน ต่อเจ้าของห้อง 1 คน เข้าไปนำทรัพย์สินมีค่าและสิ่งของที่สำคัญ เช่น เสื้อผ้า เงิน ทอง และเอกสารทางราชการออกมาให้เร็วที่สุด และก็จะมีเจ้าหน้าที่อีกชุดหนึ่งช่วยนำสิ่งของเครื่องใช้ที่อยู่ในห้องตามออกมาภายหลัง ขณะเดียวกันในวันนี้ทางด้านขององค์การบริหารส่วนตำบลพันท้ายนรสิงห์ ก็ได้มีการประกาศคำสั่ง 3 ฉบับ มาติดไว้หน้ารั้วหอพักดังกล่าว โดยประกอบไปด้วย 1.ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง (เฉพาะกิจ) กรณีอาคารหอพักสูง 3 ชั้น ทรุดตัว , 2.ประกาศคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขอาคารตามมาตรา ๔๖ วรรคหนึ่ง (กรณีที่อาคารมีสภาพหรือมีการใช้ที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรืออาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัยหรือก่อให้เกิดเหตุรำคาญ หรือกระทบกระเทือนต่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม) และ 3.ประกาศพื้นที่อันตรายอาคารทรุดตัว


นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ได้เดินทางมาเยี่ยมเยียนผู้ประสบเหตุด้วยนั้น ก็ได้มีการกล่าวให้กำลังใจแก่นางเยี่ยม คำหริ่ม (กลัดเจริญ) เจ้าของอาคาร และผู้ที่เช่าพักอาศัย ซึ่งในโอกาสนี้ก็ได้มอบสิ่งของสำรองจ่าย เป็นผ้าห่มและชุดเสื้อผ้าสำหรับผู้ชายและผู้หญิงให้ผู้เช่าพักทุกคน ส่วนทางด้านของนางเยี่ยม คำหริ่ม (กลัดเจริญ) เจ้าของห้องเช่าก็ได้นำเงินมามอบให้แก่ผู้เช่าที่ต้องหยุดงาน 1 วัน โดยมอบให้คนละ 400 บาท นอกจากนี้ทางเหล่ากาชาดจังหวัดสมุทรสาคร ยังจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือตามวัตถุประสงค์ของสภากาชาดไทย ครอบครัวละ 2,000 บาทอีกด้วย ส่วนทาง อบต.พันท้ายนรสิงห์ก็จะได้นำงบฯ ออกมาให้ความช่วยเหลือหลังจากที่มีการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติแล้ว โดยสามารถช่วยเหลือเป็นเรื่องของค่าเช่าที่พักอาศัยรายละ 1,700 บาท เป็นเวลา 2 เดือน
ด้านนายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวสรุปผลการดำเนินงานในวันนี้ว่า หลังจากที่วันนี้ได้มีการประชุมร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อหาแนวทางการดำเนินงานตามขั้นตอนต่าง ๆ และจะมารวบรวมกระบวนการงานที่ได้สั่งไป ตลอดจนได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วนั้น ในวันพรุ่งนี้ (21 ส.ค.) ก็จะมีการมาสรุปผลกันว่า สาเหตุของการทรุดตัวของอาคารในครั้งนี้เกิดจากอะไร
ส่วนนายโยธิน อินทร์อ่อน หัวหน้าชุดปฏิบัติการกู้ภัย อบต.พันท้ายนรสิงห์ ก็ได้บอกถึงการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กู้ภัยว่า ในส่วนของเจ้าหน้าที่กู้ภัยนั้น ต้องใช้ความชำนาญและความระมัดระวังเป็นพิเศษ ที่จะพาเจ้าของห้องเข้าไปเก็บสิ่งของภายในอย่างปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพราะต้องประเมินด้วยว่าแต่ละจุดมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
ขณะที่ผู้ที่พักอาศัยนั้นก็บอกว่า รู้สึกโล่งใจที่ได้ขนย้ายสิ่งของสำคัญออกมาแล้ว โดยหลังจากนี้ก็จะไปอยู่ที่เช่าแห่งใหม่ ซึ่งบางคนก็หาห้องเช่าใหม่ได้แล้ว และบางคนก็มีนายจ้างมานำไปพักในโรงงาน เป็นต้น
นายวัฒนา แตงมณี นายก อบต.พันท้ายนรสิงห์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้ทาง อบต.ได้ออกประกาศคำสั่งมาติดแล้ว 3 ฉบับ โดยหลังจากที่ผู้เช่าพักอาศัยได้ขนย้ายข้าวของเครื่องใช้ออกไปหมด ก็ยังคงต้องกันพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นเขตอันตราย และจะต้องรอผลจากเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญทำการประเมินว่า จะดำเนินการอย่างไรกับอาคารหลังนี้ต่อไป แต่เบื้องต้นคงไม่สามารถที่จะปรับปรุงซ่อมแซมเพื่อให้กลับมาใช้ได้ใหม่ ส่วนการทุบหรือไม่ทุบนั้น ต้องขึ้นอยู่กับทางเจ้าของอาคารแห่งนี้
ชูชาต แดพยนต์ ทีมข่าวสมุทรสาคร