พิธีเปิดการจัดทำแผนการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งโดยการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในตำบลเกาะสุกร ณ อาคารเอนกประสงค์ อบต.เกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง
.
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ลงพื้นที่เกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เพื่อดำเนินการจัดโครงการการจัดทำแผนการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งโดยการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในตำบลเกาะสุกร โดยมี นางราตรี จิตรหลัง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสุกร เป็นประธานและกล่าวต้อนรับทีมนักวิจัย และ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐฑิตา โรจนประศาสน์ ในนามหัวหน้าโครงการกล่าวรายงาน โครงการดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 20 สิงหาคม 2563 ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฯ ได้รับการอนุมัติทุนสนับสนุนการวิจัย เรื่อง การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งเกาะสุกร จ.ตรัง นำไปสู่ความยั่งยืน ประจำปี 2563 จาก สกสว. โดยมีกำหนดจัดเวทีจัดทำแผนแบบมีส่วนร่วมของชาวบ้าน โดยแบ่งกลุ่มปฏิบัติการตามหมู่บ้านเป็น 4 กลุ่ม พร้อมด้วย นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยฯ และบุคลากรจากกลุ่มเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานสำหรับการจัดทำแผนการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งโดยการมีส่วนร่วมของชาวบ้านเกาะสุกร และเพื่อจัดทำแผนการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งโดยการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในต.เกาะสุกร
นางราตรี จิตรหลัง กล่าวว่า สำหรับเกาะสุกร ประกอบด้วย 4 หมู่บ้าน หมู่ 1 บ้านเสียมไหม หมู่ 2 บ้านแหลม หมู่ 3 บ้านทุ่ง และหมู่ 4 บ้านหาดทรายทอง เกาะสุกร หรือที่เรียกกันว่า เกาะหมู เป็นตำบลหนึ่งของ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ตัวเกาะขนานกับแนวชายฝั่ง และห่างจากฝั่งเพียง 3 กิโลเมตร สภาพตัวเกาะประกอบด้วยภูเขา สวนยางพารา ป่าโกงกาง นาข้าว และทะเล ทำให้ชาวบ้านบน เกาะสุกร มีอาชีพประมง ทำสวนยาง และเกษตรกรรม นอกจากนี้ เมื่อหมดฤดูนาข้าวในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ก็จะเห็นไร่แตงโมพันธุ์หวานแดงอร่อย ออกผลเต็มทั่วท้องทุ่ง เพราะเป็นสินค้าขึ้นชื่อของ เกาะสุกร
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า เกาะสุกร จะมีชายหาดที่ไม่สวยงามเหมือนกับเกาะอื่น ๆ ในจังหวัดตรัง แต่ก็มีกิจกรรมดี ๆ มากมาย ให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเที่ยว เกาะสุกร ได้สนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็น การพักผ่อนชายหาด การเช่าเรือไปดำน้ำที่ เกาะเหลาเหลียง และ เกาะตะเกียง เพื่อชมปะการังเจ็ดสี ปะการังนานาชนิด และปลานีโม่ ซึ่งเหมาะสำหรับการศึกษาเรียนรู้เชิงนิเวศน์ทางทะเล การปั่นจักรยานชมวิวทิวทัศน์และการดำรงชีวิตของชาวบ้าน โดยเส้นทางจะผ่านภูเขา สวนยางพารา สวนมะม่วงหิมพานต์ ป่าโกงกาง ป่าโปร่ง ไร่แตงโม ทุ่งนา ซึ่งเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ควรไปสัมผัส เพราะจะได้ชื่นชมกับบรรยากาศท้องทุ่งนาข้าวเขียวขจี พร้อม ๆ กับสูดความหอมของกลิ่นขวัญข้าวช่วงตั้งท้อง หรือจะแวะเพลิดเพลินกับฝูงวัว ควาย ฝูงนกเป็ดน้ำ นกกระยาง นกกวัก ปิดท้ายด้วยไปชมฝูงปูก้ามดาบ ปูหลากสี ฝูงนาก สัตว์ป่าชายเลนก็สามารถทำได้
ด้าน ผศ.ดร.ประเสริฐ ทองหนูนุ้ย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง ในนามนักวิจัยร่วมโครงการ กล่าวว่า การท่องเที่ยวของจังหวัดตรัง โดยเฉพาะเกาะสุกร มีความแตกต่างๆไปจากที่อื่นๆ ที่มีความหลากหลายด้านทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชาวบ้านที่เป็นจุดเด่น มีการประกอบอาชีพหลากหลายทุกฤดูกาล อยู่อย่างพอเพียงใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย จึงทำให้ทีมนักวิจัยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดทำแผนการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งโดยการมีส่วนร่วมของชาวบ้านเกาะสุกร โดยฝากแนวคิดไว้ว่า “ไปได้เร็วไปได้ด้วยตนเอง ถ้าอยากอยู่ไปยาวนานต้องไปพร้อมกัน”
มนต์เจริญ ศรีมงคล จ.ตรัง