นครราชสีมา กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตั้งศูนย์เรียนรู้ Zero Waste ชุมชนบ้านดอนกลอย

สส. ตั้งศูนย์เรียนรู้ Zero Waste ชุมชนบ้านดอนกลอย ด่านขุนทด ชุมชนปลอดขยะ รางวัลถ้วยพระราชทานฯ ปี 62
……………………………..
วันนี้ (16 ส.ค.63) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) ชุมชนบ้านดอนกลอย จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นชุมชนปลอดขยะ รางวัลถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ        พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประจำปี 2562 นับเป็นชุมชนแห่งที่ 2 ของจังหวัดนครราชสีมา ที่ได้รับการยกระดับให้เป็น   ศูนย์เรียนรู้ฯ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรชุมชน โดยมี        นางภาวินี ณ สายบุรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นประธานพิธีเปิด


นางภาวินี ณ สายบุรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้นำแนวคิดการจัดการขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) โดยใช้หลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) มาส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานชุมชนปลอดขยะ เป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี โดยได้พัฒนาและยกระดับขึ้นเป็น “ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะเหลือศูนย์ ” ในชุมชน มาแล้ว 19 แห่ง เพื่อเป็น “ชุมชนต้นแบบ” ร่วมขยายผลการดำเนินงานจัดการปัญหาขยะของชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งในปีนี้ จัดตั้งเพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะเหลือศูนย์ ชุมชนบ้านดอยกลอย จ.นครราชสีมา ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะเหลือศูนย์ชุมชนบ้านโนนกล้วยหอม จ.ขอนแก่น และศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะเหลือศูนย์ชุมชนบ้านรางพลับ จ.ราชบุรี โดยทั้งหมดเป็นชุมชนปลอดขยะ ที่ได้รับรางวัล     ถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประจำปี 2562 ประเภทชุมชนขนาดเล็ก ชุมชนขนาดกลาง และชุมชนขนาดใหญ่ ตามลำดับ


บ้านดอนกลอย เป็นชุมชนขนาดเล็กแห่งแรกใน ต.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานฯ ประเภทชุมชนปลอดขยะ และนับเป็นชุมชนปลอดขยะแห่งที่ 2 ของจังหวัดที่ได้รับการยกระดับให้เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ   การจัดการขยะเหลือศูนย์ ต่อจากชุมชนหนองโจด ต.โนนแดง ซึ่งเป็นชุมชนปลอดขยะ รางวัลถ้วยพระราชทานฯ ประเภทชุมชนขนาดกลาง เมื่อปี 2558 โดยชุมชนบ้านดอนกลอย ได้ยึดหลัก “ผู้ก่อขยะ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ” จึงร่วมกันดำเนินโครงการ “ชุมชนปลอดขยะ”มาตั้งแต่ปี 2555 ด้วยกระบวนงาน 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1. เริ่มต้นที่ความรู้ ไปสู่ความเข้าใจ  อบรมให้ความรู้ชาวบ้านในการจัดการขยะที่ถูกต้อง 2. หารือ วางแผน และกำหนดแนวทางในการจัดการขยะในชุมชนร่วมกัน เน้นการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ตามหลัก 3Rs ตั้งเป้าลดปริมาณขยะในปี 2562 ให้เหลือวันละ 3 กิโลกรัมต่อวัน และ 3. ลงมือ จัดการ ตาม Roadmap ที่กำหนด


ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการฯ สามารถลดปริมาณขยะในชุมชนได้จำนวนมาก จาก 45 กิโลกรัมต่อวัน ในปี 2555 เหลือเพียง 4 กิโลกรัมต่อวัน ในปี 2561 โดยเฉพาะขยะอินทรีย์ที่มีมากถึง 64% ของชุมชน แต่สามารถจัดการและนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เกือบ 100% เช่น นำมาเป็นอาหารสัตว์ ทำปุ๋ยอินทรีย์ ทำน้ำหมักชีวภาพ ทำถังขยะเปียก ส่งผลให้แต่ละวัน มีขยะอินทรีย์เหลือเพียง 2.46 กิโลกรัม จากเดิมที่เหลือมากถึง 28.8 กิโลกรัม

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการคัดแยกขยะในครัวเรือน จัดตั้งกองทุนขยะรีไซเคิล ใช้ QR CODE แทนการแจกเอกสาร จัดกิจกรรมลดใช้ถุงพลาสติกและโฟมในร้านค้าส่งเสริมให้ใช้ปิ่นโต หิ้วตะกร้าไปทำบุญ จัดเลี้ยงอาหารแบบไม่ให้เหลือทิ้ง ทำสิ่งประดิษฐ์จากขยะ และนำขยะอันตราย        ส่ง อปท.กำจัด ที่สำคัญ ยังได้สร้างผลผลิตธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งอาหารของชุมชน ทั้งตู้เย็นหลังบ้าน สวนผลไม้ข้างบ้าน รวมถึงการเลี้ยงไก่เพื่อนำมาประกอบอาหาร หากผลิตเหลือก็จะนำมาวางขายที่ร้านค้าของชุมชน