อำนาจเจริญ สส.เปิดศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ Zero Waste School ร.ร.หัวตะพานวิทยาคม

สส. เปิดศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ Zero Waste School ร.ร.หัวตะพานวิทยาคม จ.อำนาจเจริญ
………………………..
วันนี้ (13 ส.ค.63) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะเหลือศูนย์ แห่งที่ 13 โรงเรียนหัวตะพานวิทยาคม จ. อำนาจเจริญ โรงเรียน  ปลอดขยะ (Zero Waste School) ระดับมัธยมศึกษา รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2562 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรชุมชน โดยมี นางภาวินี ณ สายบุรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นประธานพิธีเปิด


นางภาวินี ณ สายบุรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้นำแนวคิดการจัดการขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) โดยใช้หลัก 3Rs คือ Reduce ลดปริมาณขยะ Reuse ใช้ซ้ำ และ Recycle นำไปแปรรูปใหม่ มาส่งเสริมการดำเนินงานโรงเรียนปลอดขยะอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2556 เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับสถานศึกษาในการจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร เริ่มที่ต้นทาง และขยายผลสร้างความยั่งยืนด้วยการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะเหลือศูนย์ ระดับโรงเรียน ขึ้น จำนวน 12 แห่ง ซึ่งในปี 2563 นี้ จัดตั้งเพิ่มอีก 2 แห่ง ได้แก่ แห่งที่ 13 ศูนย์เรียนรู้โรงเรียน    หัวตะพานวิทยาคม จ.อำนาจเจริญ และ แห่งที่ 14 ศูนย์เรียนรู้โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีฐาน จ.ขอนแก่น


โรงเรียนหัวตะพานวิทยาคม จ.อำนาจเจริญ ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า          กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2562 ประเภทโรงเรียนปลอดขยะ ระดับมัธยมศึกษา มีการกำหนดนโยบายและแผนการดำเนินงานโครงการ “การบริหารจัดการขยะ นำพาสู่เศรษฐกิจพอเพียง เคียงคู่ชุมชน” ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ และอัตลักษณ์ของโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยมีผู้บริหารให้การสนับสนุน ครูและนักเรียน ตลอดจนหน่วยงานใกล้เคียงให้ความร่วมมืออย่างเข้มแข็ง ส่งผลให้ปริมาณขยะในโรงเรียนลดลงอย่างต่อเนื่องในทุกปี โดยใช้กระบวนการทำงาน 6 ขั้นตอน ได้แก่


1. “การรวมพลังเอาชนะปัญหาขยะ” เชิญชวนผู้สนใจร่วมกิจกรรมเข้าค่าย ช่วยกันออกแบบและเขียนคู่มือการดำเนินงาน2. “เติมความรู้สู่แนวทางการแก้ปัญหา” สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการขยะ การคัดแยกขยะ และวิธีการทิ้งที่ถูกต้องให้กับเด็กๆ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นแกนนำ ให้สามารถชักชวนเพื่อนๆ ต่อได้3. “ร่วมพัฒนาเขตพื้นที่” ได้แก่ ห้องเรียน ห้องครูที่ปรึกษา และเขตพื้นที่ทั่วไป โดยการแบ่งหน้าที่ให้กับนักเรียนรับผิดชอบตามเขตต่างๆ  ช่วงครึ่งชั่วโมงก่อนเลิกเรียน เวลา 15.30 – 16.00 น.
4. “เปลี่ยนขยะเป็นเงินตรา” นำขยะรีไซเคิลไปขายที่ธนาคารขยะของโรงเรียน
5. “นำพาสู่เศรษฐกิจพอเพียง” น้อมนำปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง”มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน     เกิดฐานเรียนรู้ 9 บ้าน ได้แก่ บ้านธนาคารขยะ บ้านดินและปุ๋ย บ้านถ่านไบโอชาร์ บ้านพลังงาน บ้านธนาคารน้ำใต้ดิน บ้านเพอร์มาคัลเจอร์ บ้านวิถีพอเพียง บ้านพืชผักสวนครัว และศูนย์การเรียนรู้สังคมออนไลน์
6. “เคียงคู่กับชุมชน” ขยายผลการจัดการขยะ โดยเริ่มจากที่บ้านของนักเรียน มีการตรวจประเมินและเยี่ยมบ้าน มอบเกียรติบัตรสร้างแรงจูงใจ ตลอดจนออกไปให้ความรู้กับโรงเรียนเครือข่าย รวมถึง อบต. และผู้ที่สนใจ