ชาวตรังร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ต่างหลากหลายความคิดเห็น หลังจากสถานการณ์น้ำธรรมชาติเริ่มวิกฤติ สาเหตุจากป่าไม้ถูกทำลาย ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ และการรุกของน้ำเค็ม แนวโน้มกระทบน้ำจืดผลิตประปา จากน้ำต้นทุนลดลง ขณะที่ภัยจากน้ำท่วม น้ำแล้ง รุนแรงมากขึ้น
ที่โรงแรมเรือรัษฎา จังหวัดตรัง นายไพบูลย์ โอมาก รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (ปฐมนิเทศ) เวทีที่ 2 โครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และแผนหลัก การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก ทั้งนี้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร บริษัทเอส เอ็น ที คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัทไอโดรเทค แอสโซซิเอชั่น คอนซัลแตนท์ จำกัด จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (ปฐมนิเทศ) โครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และแผนหลัก การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก
โดยมีตัวแทนของสำนักงานทรัพยากรแห่งชาติ นายกรณรมย์ วรรณกุล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค 4 นายไพบูลย์ โอมาก รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นำเสนอข้อมูลโดย รศ. ดร.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี ผศ.ดร.บุญเชิด หนูอิ่ม ซึ่งเป็นการประชุมกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้นำชุมชน เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาร่วมกัน ทั้งนี้ ขอบเขตพื้นที่ศึกษา ครอบคลุมพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช พังงา พัทลุง ภูเก็ต ระนอง สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี และลุ่มน้ำสาขา 13 ลุ่มน้ำ ซึ่งข้อเรียกร้องในวันนี้มีการเสนอให้พัฒนาเหมืองร้างที่ปัจจุบันมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่และน้ำสะอาดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว การปฏิรูปผังเมือง ในการบริหารจัดน้ำทั้งระบบ ทั้งจังหวัด เพื่อแหล่งน้ำอุปโภค บริโภค ในอนาคต
รศ. ดร.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ กล่าวว่า การจัดการบริหารน้ำในจังหวัดตรังมี 5-6 เรื่อง คือ ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เนื่องจากน้ำที่มาจากด้านบนไม่มีฝ่ายชะลอน้ำ เพราะพื้นที่โดนแปลงเป็นพื้นที่ทำการเกษตรจำนวนมาก ทำให้มวลน้ำมาเร็วและรุนแรง ซึ่งจังหวัดตรังมีแนวทางที่จะผลักดันมวลน้ำให้ออกจากพื้นที่ในกระบวนการครั้งนี้เราจะยึดถือความเดือดร้อน ความต้องการของประชาชนเป็นหลัก มากกว่าการมองถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งต้องการให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมซึ่งจะได้รวบรวมทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการณ์ และจะส่งให้ทรัพยากรน้ำแห่งชาติและ ครม. ต่อไป ซึ่งลุ่มน้ำตรังเป็นลุ่มน้ำสายหลัก แต่ปัญหาที่จังหวัดตรังเจอคือขาดแคลนน้ำประปาสำหรับอนาคต ผลจากการขยายตัวของชุมชนเมือง ท่องเที่ยว และปรากฏการณ์ และที่ต้องประสบคือปัญหาน้ำเสีย ดังนั้นภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยวต้องมีระบบบัดน้ำเสีย ทั้งนี้จะมีการรวบรวมข้อมูลจากภาคประชาชนเสนอแผนเข้ามา จะมีผู้รู้ช่วยกันปรับแต่งเพื่อจัดสรรงบประมาณและวิธีการเทคโนโลยีในการบริหารจัดการและประสานหน่วยงานกับรัฐ จากอดีตที่การบริหารงานจากบนลงล่าง แต่ปัจจุบันจะนำรวบรวมและไปชี้แจงกับคนในลุ่มน้ำภาคตะวันตกเพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมในอีก 11 จังหวัด13 ลุ่มน้ำ จะถูกยกระดับพร้อมกัน
นายกรณรมย์ วรรณกุล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค 4 กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของภาคใต้แบ่งเป็น 2 ฝั่ง อันดามันและฝั่งตะวันออก ฝั่งอันดามันจะเป็นพื้นที่จำกัดของการบริหารจัดการน้ำจะมีเทือกเขาผ่าตรงกลางจากเหนือถึงใต้ ถูเขาส่วนใหญ่จะเป็นต้นน้ำสายต่าง ๆ ค่อนข้างสั้น เมื่อฝนตกลงมามากจะไหลลงสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว และจะมีปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่เช่นเดียวกัน ช่วงฤดูแล้งก็ไม่มีที่เก็บกักน้ำซึ่งหน่วยงานก็มีแผนที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำในที่ที่เหมาะสมแต่ยังมีปัญหาสภาพในพื้นที่ที่จะไปดำเนินการ เช่น พื้นที่ป่าอุทยานฯ ทั้งนี้ต้องมองเรื่องน้ำใต้ดินด้วยอาจจะมีการพัฒนาน้ำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้เพื่อการเกษตรอุปโภคบริโภคด้วย ซึ่งทาง สทนช.ต้องการที่จะให้มีการเสนอจากในพื้นที่ขึ้นไป ส่วนปัญหาน้ำเค็มรุกน้ำสายหลักเนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลมาจากต้นน้ำน้อยลงจากหลายสาเหตุ ทำให้น้ำเค็มหนุนขึ้นมาทำให้คุณภาพน้ำกร่อยอาจจะพิจารณาทำประตูระบายน้ำในพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนซึ่งมีการเปิดปิดเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย ซึ่งต้องไปดูสภาพพื้นที่ที่จะก่อสร้างต่อไป
มนต์เจริญ ศรีมงคล จ.ตรัง