อธิบดี พช. เยี่ยมศูนย์เรียนรู้การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ยึดตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9
เมื่อวันที่ 15 ก.ค. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษเยี่ยมชม ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จังหวัดศรีสะเกษโดยมี นายเชิดชัย จิณะแสน ประธานศูนย์เรียนรู้ฯให้การต้อนรับพร้อมนำชม ณ สถานที่ตั้ง 99 ม.9 ตำบลคำเนียม อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ
ทั้งนี้ ได้ประยุกต์การทำเกษตรกรรมในพื้นที่ ขนาด 9 ไร่ ของบ้านเลขที่ 99 หมู่ที่ 9 ตำบลคำเนียม อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ จนกระทั่งประสบความสำเร็จกลายเป็นศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริฯ ระดับประเทศ ทั้งยังได้แบ่งปันองค์ความรู้จากการปฏิบัติจริงให้แก่ผู้สนใจมาอย่างต่อเนื่องและภาคภูมิใจ รวมถึงยังเป็นเรี่ยวแรงสำคัญให้แก่กรมการพัฒนาชุมชนในการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ในจังหวัดศรีสะเกษอีกด้วย” อธิบดี พช. กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ได้เข้าเยี่ยมชมบ้านของนายเชิดชัย จิณะเสน ประธานศูนย์เรียนรู้การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฯ ซึ่งเป็นบุคคลต้นแบบด้านการพัฒนาที่ดินให้เกิดประโยชน์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล ในอดีตนายเชิดชัย เคยทำงานในเมืองหลวง แต่ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลให้ตนเองและภรรยาต้องออกจากงาน จึงเดินทางมาปักหลักต่อสู้ชีวิตด้วยการยึดอาชีพเกษตรกรรม ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9
อธิบดีพช. กล่าวว่า ครม.ได้อนุมัติงบประมาณให้กรมการพัฒนาชุมชนดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ภายใต้โครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะดำเนินการทั่วประเทศ โดยจังหวัดศรีสะเกษ มีทั้งหมด 22 อำเภอ มีพื้นที่ประมาณ 5.5 ล้านไร่ กว่าร้อยละ 70% เป็นพื้นที่การเกษตร ในปีงบประมาณ 2564 มีครัวเรือนสมัครเข้าร่วมโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” จำนวน 500 ครัวเรือน รวมพื้นที่ 426 ไร่
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า มีครัวเรือนที่กรมการพัฒนาชุมชนคัดเลือกเข้าโครงการฯ เป็น “ครัวเรือนต้นแบบ” จำนวน 1,000 ครัวเรือน รวม 2,034 ไร่ และมีครัวเรือนสมัครเข้าร่วมโครงการพื้นที่เรียนรู้ “ชุมชนต้นแบบ” จำนวน 48 แห่ง พื้นที่ 240 ไร่ โดยการขับเคลื่อนโครงการฯ มุ่งเน้นการจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร เป็นผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีอยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ อย่างเป็นระบบ
ด้าน นายเชิดชัย จิณะเสน ประธานศูนย์เรียนรู้การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฯ กล่าวว่า ขอขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชนที่ช่วยสนับสนุนให้ประชาชนปลูกพืชผักสวนครัว พึ่งพาตนเอง ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ทั้งยังได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล ซึ่งเชื่อมันว่าจะเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่พี่น้องประชาชนได้อย่างแน่นอน
สำหรับ พื้นที่ดำเนินการของนายเชิดชัย จิณะเสน จำนวน 9 ไร่ ประกอบไปด้วยฐานการเรียนรู้ จำนวน 9 สถานี ได้แก่ 1.สถานีฐานปรับความรู้ด้านแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง 2.สถานีที่อยู่อาศัยและการจัดภูมิทัศน์ที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเกษตรกร 3.สถานีพืชผักสวนครัวและพืชไร่ 4.สถานีประมงและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 5.สถานปศุสัตว์(สัตว์ปีก สัตว์ใหญ่ แปลงหญ้า) 6.สถานีการปลูกไม้ผล 7.ฐานการปลูกป่าและปลูกไม้ทางเศรษฐกิจ 8. สถานีการทำนา และ 9. สถานีการถอดองค์ความรู้