พช.จับมือสภาพสตรีฯ มอบถุงยังชีพบรรเทาทุกข์ชาวแพร่ 600 ชุด “โครงการ เติมความสุข บรรเทาความทุกข์ ด้วยการแบ่งปัน” ถวายเป็นพระราชกุศล พร้อมชื่นชมชาวจังหวัดแพร่ใส่ผ้าหม้อฮ่อมช่วยรักษาศิลป์ผ้าถิ่นไทยให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมคู่จังหวัดแพร่ตลอดไป
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2563 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วย นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ นำคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ เดินทางไปมอบถุงยังชีพ จำนวน 600 ชุด ในโครงการ “เติมความสุข บรรเทาความทุกข์ ด้วยการแบ่งปัน” ถวายเป็นพระราชกุศล
เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี 3 มิถุนายน 2563 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออกและกลุ่มประเทศ GMS ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ โดยได้รับเกียรติจากนายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ นางอัมราพร มุ้งทอง นายกสมาคมผู้นำสตรีพัฒนาชุมชนจังหวัดแพร่ และหัวหน้าส่วนราชการเข้าร่วมพิธี
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่ากรมการพัฒนาชุมชนได้ร่วมมือกับสภาสตรีแห่งชาติฯ จัดทำโครงการ “เติมความสุข บรรเทาความทุกข์ ด้วยการแบ่งปัน” ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมช่วยผ่อนคลายความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยได้ร่วมกันจัดถุงยังชีพเพื่อนำไปมอบให้แก่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ รวมไม่น้อยกว่า 5,000 ถุง เพื่อเป็นการแบ่งบันความสุข บรรเทาความทุกข์ ขอเป็นกำลังใจให้แก่ทุกท่าน และกรมการพัฒนาชุมชนกับสภาสตรีแห่งชาติฯจะยังคงเดินหน้าแบ่งบันความสุข บรรเทาความทุกข์ ไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงและประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
“ผมขอชื่นชมพี่น้องจังหวัดแพร่ที่มารับถุงยังชีพวันนี้ว่า เป็นผู้ช่วยรักษาศิลป์ผ้าถิ่นไทย สวมใส่หม้อฮ่อมกันเกือบทั้งหมด ผมขอเชิญชวนทุกท่านสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้นำเสนอ “โครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำริให้นำภูมิปัญญาของราษฎรที่ได้ทอผ้าไว้ใช้กันอยู่มาพัฒนาเป็นอาชีพให้ก่อเกิดรายได้แก่ราษฎร รวมถึงเพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสตรีในท้องถิ่น อีกทั้งเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่น ให้เกิดกระแสความนิยมการแต่งกายผ้าไทยแก่ประชาชนคนไทยทั่วประเทศ ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ภาพลักษณ์ความเป็นไทยสู่สายตาชาวต่างชาติอีกด้วย”อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวอย่างภาคภูมิใจ
นอกจากนี้ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ยังเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ในท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนรณรงค์ทั่วประเทศเพื่อปลูกผักสวนครัวให้ครบทุกครัวเรือนตามแผนปฏิบัติการ 90 วัน ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ซึ่งมั่นใจว่าภายใน วันที่ 30 มิถุนายน 2563 สัปดาห์หน้านี้ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศจะร่วมปลูกผักสวนครัวครบ 100 % อย่างแน่นอน
ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า การดำเนินโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” เป็นการสนับสนุนการสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ให้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการในชุมชน อันเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้ และทำให้เกิดการหมุนเวียนในห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจระดับประเทศต่อไป ดังนั้นการร่วมสวมใส่ผ้าไทย นอกจากจะช่วยร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยแล้ว ยังสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ นำไปสู่ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตได้อย่างมั่นคงอีกด้วย
หลังจากพิธีมอบถุงยังชีพเสร็จสิ้นแล้ว อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ และคณะ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการผ้าพื้นเมืองของจังหวัดแพร่ และผลิตภัณฑ์จากไม้สัก ที่ผู้ประกอบการ OTOP นำมาจัดแสดงในงาน นอกจากนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ยังได้มอบทุนการศึกษาช่วยเหลือครัวเรือนยากจน มอบแก่เด็กนักเรียน จำนวน 150 ครัวเรือนด้วย