จังหวัดนครปฐม ออกคำสั่งให้เปิดสถานที่เพื่อดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้

จังหวัดนครปฐม ออกคำสั่งให้เปิดสถานที่เพื่อดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ในจังหวัดนครปฐม

วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดนครปฐม ได้ออกคำสั่งจังหวัดนครปฐม ที่ 1271/2563 เรื่อง ให้เปิดสถานที่เพื่อดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ในจังหวัดนครปฐม

ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครปฐม ได้มีคำสั่งจังหวัดนครปฐม ที่ 1063/2563 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 ปิดสถานที่ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) และคำสั่งจังหวัดนครปฐมที่1161/2563 ลงวันที่ 16พฤษภาคม 2563 ให้เปิดสถานที่เพื่อดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ในจังหวัดนครปฐม นั้น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบกับข้อ 2 และข้อ 7 (1) ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 และข้อ 3 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 9)ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครปฐม จึงมีคำสั่งให้เปิดสถานที่เพื่อดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ตามความสมัครใจและความพร้อม ดังนี้

1. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 21.00 นาฬิกา
2. ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ ให้เปิดดำเนินการจัดประชุม การแสดงสินค้า หรือการจัดนิทรรศการได้ โดยเป็นกิจกรรมซึ่งจำกัดพื้นที่รวมในการจัดงานขนาดไม่เกินสองหมื่นตารางเมตร และเปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 21.00 นาฬิกา ทั้งนี้ ให้งดเว้นการจัดการแข่งขัน กิจกรรมส่งเสริมการขาย หรือการดำเนินการอื่นใดที่เปิดโอกาสให้ผู้คนมาชุมนุมกันหนาแน่นและอาจเกิดภาวะไร้ระเบียบได้
3. สนามพระเครื่อง ศูนย์พระเครื่อง ให้เปิดดำเนินการได้โดยงดเว้นการจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้คนมาชุมนุมกันหนาแน่นและอาจเกิดภาวะไร้ระเบียบได้
4. ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผมสำหรับบุรุษหรือสตรี ให้เปิดดำเนินการโดยจำกัดเวลาการให้บริการในร้านไม่เกินรายละสองชั่วโมงและต้องไม่มีผู้นั่งรอในร้าน
5. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน ให้เปิดได้เฉพาะการปฏิบัติงานที่จำเป็นของเจ้าหน้าที่เพื่อการนัดหมาย จัดสรรและแจกจ่ายเครื่องดื่มและอาหารกลางวัน และการจัดเตรียมความพร้อมของสถานที่ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด
6. คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม สถานที่สักหรือเจาะผิวหนัง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
7. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา และสถานประกอบการนวดแผนไทย (งดเว้นการอบตัว อบสมุนไพรหรืออบไอน้ำแบบรวมและการนวดบริเวณใบหน้า) นวดฝ่าเท้า ยกเว้น สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด
8. สถานที่ออกกำลังกายฟิตเนส ให้เปิดดำเนินการได้โดยจำกัดจำนวนผู้เล่นในการเล่นแบบรวมกลุ่มและงดเว้นการอบตัวหรืออบไอน้ำแบบรวม
9. สถานที่ฝึกซ้อมมวย โรงยิมหรือค่ายมวย ให้เปิดได้เฉพาะเพื่อการฝึกซ้อมการชกลมโดยไม่มีคู่ชก การชกมวยแบบล่อเป้า โดยต้องไม่เป็นการแข่งขันและไม่มีผู้ชม
10. สนามกีฬา ให้เปิดดำเนินการได้เฉพาะกิจกรรมเพื่อการออกกำลังกายหรือการฝึกซ้อมในประเภทกีฬา ได้แก่ ฟุตบอล ฟุตซอล บาสเกตบอล และวอลเล่ย์บอล โดยต้องไม่เป็นการแข่งขันและมีจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมที่อยู่ในบริเวณสนามกีฬา (ไม่นับรวมผู้เล่น) อีกไม่เกินสิบคน
11. สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง สเก็ตหรือโรลเลอร์เบลด หรือการละเล่นอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ให้เปิดดำเนินการได้เฉพาะเพื่อการออกกำลังกายหรือการฝึกซ้อม
12. สถาบันลีลาศหรือสอนลีลาศ
13. สระน้ำเพื่อการเล่นกีฬาหรือกิจกรรมทางน้ำในบึง เช่น เจ็ตสกี ไคท์เซิร์ฟ เครื่องเล่นประเภทบานาน่าโบ๊ท ให้เปิดดำเนินการได้โดยต้องไม่เป็นการแข่งขันและจำกัดจำนวนผู้เล่นตามจำนวนเครื่องเล่นและขนาดพื้นที่
14. โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ ให้เปิดดำเนินการได้โดยจำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมไม่เกินสองร้อยคน สำหรับโรงมหรสพในระยะแรกนี้ให้เปิดเฉพาะการจัดแสดงลิเก ลำตัด หรือการแสดงพื้นบ้านอื่น ๆ ก่อน โดยงดเว้นการจัดแสดงดนตรีหรือคอนเสิร์ตหรือกิจกรรมอื่นที่อาจมีความเสี่ยงต่อการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลและการแพร่กระจายเชื้อ
15. สวนสัตว์หรือสถานที่จัดแสดงสัตว์ ให้เปิดดำเนินการได้โดยจำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมในพื้นที่จัดการแสดงที่เป็นการรวมกลุ่ม
ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ในพื้นที่เฉพาะในเขตท้องที่อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ ชี้แจง ควบคุม กำกับ ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องถือปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งฉบับนี้อย่างเคร่งครัด

ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ มีโทษตามนัยมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรืออาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป

……………………………………………….
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม ภาพ/ข่าว