จังหวัดนครปฐม ประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 สำหรับผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะ และรถยนต์สาธารณะ
วันที่ 7 พฤษภาคม 2563 นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดนครปฐม ได้ออกประกาศจังหวัดนครปฐม ฉบับที่ 28 เรื่อง มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตราย สำหรับผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะและรถยนต์สาธารณะ ได้แก่ รถโดยสาร รถตู้ รถไฟ รถแท็กซี่ รถสามล้อ และรถกระป๊อ ในท้องที่จังหวัดนครปฐม โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ยังคงปรากฏอยู่ แม้จะควบคุมไว้ได้ในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากโรคดังกล่าวยังคงระบาดรุนแรงอยู่ในหลายประเทศและยังมีการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ตลอดจนการไปมาหาสู่ข้ามจังหวัดและการไม่นำพาต่อมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจึงได้ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีกคราวหนึ่งจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 (7) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบกับข้อ 7 (1) ข้อ 11 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครปฐม จึงออกประกาศกำหนดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตราย สำหรับผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะและรถยนต์สาธารณะ ได้แก่ รถโดยสาร รถตู้ รถไฟ รถแท็กซี่ รถสามล้อ และรถกระป๊อ ในท้องที่จังหวัดนครปฐม โดยให้มีมาตรการ ดังต่อไปนี้
1. มาตรการควบคุมหลัก
1.1 ให้ทำความสะอาดพื้น พื้นผิวสัมผัสบ่อยๆ ทั้งก่อนและหลังการให้บริการ และให้กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน
1.2 ให้พนักงานและผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าอยู่เสมอ
1.3 ให้มีการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
1.4 ให้มีพื้นที่รอคิว มีที่นั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร
1.5 ให้ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการมิให้แออัด หรือพิจารณากำหนดมาตรการลดเวลาในการใช้บริการให้สั้นลงเท่าที่จำเป็น โดยถือหลักเลี่ยงการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน
1.6 งดให้บริการอาหารบนรถระหว่างเดินทาง รวมทั้งห้ามรับประทานอาหารบนรถ เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็น
1.7 จัดทำทะเบียนผู้ใช้บริการ
2. มาตรการควบคุมเสริม
2.1 อาจเพิ่มมาตรการการใช้แอปพลิเคชันติดตามตัวทางโทรศัพท์เคลื่อนที่มาใช้ได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็น หรือใช้มาตรการควบคุมด้วยการบันทึกข้อมูลและรายงานในบางพื้นที่ก็ได้
2.2 ให้ผู้ประกอบการดำเนินการตามมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคอื่น ๆ นอกเหนือจากประกาศฉบับนี้เพิ่มเติมได้ตามขีดความสามารถ
2.3 มีมาตรการคัดกรองอาการป่วย ไข้ ไอ จาม หรือเป็นหวัด สำหรับผู้ประกอบการ พนักงานบริการ และผู้ใช้บริการ (กรณีเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด)
3. ให้หน่วยงานมีหน้าที่ในการรับผิดชอบ ดังต่อไปนี้
3.1 ศูนย์ปฏิบัติการโควิด – 19 จังหวัดนครปฐม ศูนย์ปฏิบัติการโควิดอำเภอ มีหน้าที่กำกับดูแล และออกคู่มือการปฏิบัติตามความเหมาะสม
3.2 หน่วยงานด้านความมั่นคง จัดกำลังสายตรวจร่วม ตำรวจ ทหาร สาธารณสุข ฝ่ายปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อตรวจการประกอบการหรือการจัดกิจกรรมให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด
ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมหลัก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ทั้งนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจและให้คำแนะนำ หรือตักเตือนห้ามปรามได้ตลอดเวลา หากพบว่ามีการฝ่าฝืนมาตรการที่กำหนด ให้เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครปฐมสั่งปิดสถานที่นั้นเฉพาะราย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
********************************************************
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม – ภาพ/ข่าว