จังหวัดนครปฐม ประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ของโรคติดต่ออันตราย กรณีการบริจาคสิ่งของอุปโภคบริโภค เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19
วันที่ 21 เมษายน 2563 นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดนครปฐม ได้ออกประกาศจังหวัดนครปฐม ฉบับที่ 13/2563 เรื่อง มาตรการควบคุมการแพร่ของโรคติดต่ออันตราย กรณีการบริจาคสิ่งของอุปโภคบริโภค เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในท้องที่จังหวัดนครปฐม
โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและกว้างขวางไปหลายประเทศทั่วโลก โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 กำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจึงได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ฉบับลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 เกี่ยวกับโรคดังกล่าว และจังหวัดนครปฐมยังเป็นพื้นที่เสี่ยงที่อาจมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 (7) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบกับข้อ 5 ข้อ 7 (1) และข้อ 11 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2563 ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ผู้ใดประสงค์จะบริจาคหรือแจกจ่ายสิ่งของอุปโภค บริโภค อาหาร หรือเงิน ให้แก่ประชาชนโดยตรงในพื้นที่จังหวัดนครปฐมให้แจ้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครปฐม หรือศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่ประสงค์จะบริจาคทราบก่อนดำเนินการ อย่างน้อย 1 วัน โดยให้แจ้งชนิดสิ่งของที่จะบริจาค จำนวนสิ่งของที่จะบริจาค และจำนวนบุคคลที่เข้าร่วมบริจาค เพื่อให้หน่วยงานราชการดังกล่าวจะได้อำนวยความสะดวกในการดำเนินการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ข้อ 2 ให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครปฐม หรือศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้รับแจ้งจากผู้ประสงค์จะบริจาคหรือแจกจ่ายสิ่งของตามข้อ 1 อำนวยความสะดวกในการจัดระเบียบการบริจาคและแจกจ่าย ดังนี้
2.1 ให้อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดสถานที่สำหรับแจกจ่ายสิ่งของอย่างน้อยพื้นที่ละ 1 แห่ง พร้อมทั้งกำหนดช่วงระยะเวลาการดำเนินการไว้อย่างชัดเจน กรณีผู้ประสงค์จะบริจาคหรือแจกจ่ายสิ่งของอุปโภค บริโภค อาหาร หรือเงิน นอกพื้นที่ที่กำหนด ให้ดำเนินการพิจารณาอำนวยความสะดวกและจัดระเบียบตามความเหมาะสม
2.2 ให้ผู้บริจาคหรือแจกจ่ายสิ่งของอุปโภค บริโภค อาหาร หรือเงิน และผู้มารับบริจาคหรือผู้รับแจกจ่ายสิ่งของดังกล่าว สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่ดำเนินกิจกรรม
2.3 จัดให้มีสถานที่สำหรับล้างมือ หรือวางเจลสำหรับล้างมือ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในสถานที่ที่เหมาะสม รวมทั้งจัดให้มีมาตรการวัดไข้หรือวัดอุณหภูมิร่างกายผู้มารับบริจาคหรือแจกจ่ายสิ่งของอุปโภค บริโภค อาหาร หรือเงิน
2.4 จัดให้ผู้มารับบริจาคหรือแจกจ่ายสิ่งของอุปโภค บริโภค อาหาร หรือเงิน เว้นระยะนั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตรเพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัส หรือแพร่เชื้อโรคทางฝอยละอองน้ำลาย
2.5 ควบคุมจำนวนผู้รับบริจาคหรือแจกจ่าย มิให้แออัด หรือลดเวลาให้สั้นลงเท่าที่จำเป็น โดยถือหลักการหลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน
ข้อ 3 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนำสิ่งของของผู้มาบริจาคหรือแจกจ่าย มาดำเนินการแจกจ่ายด้วยตนเอง
ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการข้างต้น อาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย