อนุทินร่วมประชุม “สามัคคีที่ปทุม เราจะรบร่วมกันในสงครามโควิด-19”ผลักดันโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เป็นศูนย์กลางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จังหวัดปทุมธานี เชื่อมั่นว่าจะชนะโควิด-19 ได้แน่นอน
เมื่อเวลา 9.30 น. วันที่ 10 เม.ย.2563ที่ห้องประชุมสถาพร กวิตานนท์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางร่วมประชุมกับคณะผู้บริหารจังหวัดปทุมธานี แพทย์ พยาบาลโรงพยาบาลในจังหวัดปทุมธานี โดยมี ดร.พินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ นายแพทย์สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี พล.ต.ต.ชยุต มารยาทตร์ ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี หัวหน้าส่วนราชการ และคณะแพทย์ พยาบาล ผู้บริหารโรงพยาบาลอำเภอในจังหวัดปทุมธานี ร่วมประชุม“สามัคคีที่ปทุมธานีเราจะรบร่วมกันในสงครามโควิด-19” เพื่อผลักดันโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นศูนย์กลางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในจังหวัดปทุมธานีโดยโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯจะเป็นแกนรับเคสทุกเคสที่เกินกำลังโรงพยาบาลอำเภอทุกแห่ง ทั้งที่จะส่งต่อ(refer)เข้า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลสนาม โดยถือว่าเป็นการรับจากโรงพยาบาลเครือข่ายของตัวเอง
ก่อนเข้าร่วมประชุม นายอนุทิน ได้เข้าทดลองใช้ตู้ฆ่าเชื้อไวรัส ที่ทาง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันทำขึ้น เพื่อเป็นนวัตกรรมที่ใช้ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และเชื้อโรคชนิดต่างๆด้าน นายแพทย์พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยโรงพยาบาลสามารถรองรับคนไข้ทั่วไป 750 เตียง ส่วนความพร้อมในการรักษาอาการโควิด-19 มีห้องความดัน 13 เตียง, หอผู้ป่วยโควิด-19 รวม 12 เตียง, ห้องผู้ป่วยแยกโรค 32 เตียง เตรียมเปิดห้องไอซียูอีก 40 เตียง กลางเดือนพฤษภาคมนี้ รวมทั้งได้เปิดโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงมาพักฟื้นอีก 308 เตียง ด้านเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์มีเพียงพอสำหรับตลอด 2 เดือน ขณะเดียวกันได้พัฒนาแอปพลิเคชันไว้สำหรับพูดคุยและติดตามผู้ป่วย บริการได้มีการจัดส่งยารักษาผู้ป่วยเรื้อรังถึงบ้าน และนำหุ่นยนต์ “ยุงทอง” ที่ไอแอพพ์ เทคโนโลยี บริจาค 1 ตัว เป็นการวิจัยร่วมสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กว่า 6 เดือน ใช้สำหรับวัดไข้ด้วยระบบอัตโนมัติและคำสั่งภาษาไทย ได้ต้องใช้รีโมทสั่งการ ซึ่งหุ่นยนตร์สามารถพูดโต้พูดคุยกับคนป่วยได้ เพื่อนำมาใช้ในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในภาวะวิกฤตโควิด-19 โดยในอนาคตตั้งเป้าพัฒนาให้เชื่อมโยงกับเครื่องตรวจออกซิเจนที่ปลายนิ้วได้ รวมทั้งสามารถวัดความดัน เก็บข้อมูลคนไข้ ส่งให้หมอ โดยที่หมอไม่ต้องซักประวัติผู้ป่วย
ด้านนายอนุทิน กล่าวว่า ตนเองเห็นความพร้อมของบุคลากรทางแพทย์ ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และโรงพยาบาลในสังกัดจังหวัดปทุมธานี ถือว่าทำได้เยี่ยมมาก ย้ำว่าไทยเดินมาถูกทางแล้ว เชื่อมั่นว่าจะชนะโควิด-19 ได้แน่นอน หลังใช้มาตราการยาแรงกำหนดมาตราการเข้มข้นในการเดินทางเข้าประเทศ ทำให้มีการเดินทางจากต่างประเทศน้อยลง ส่งผลอัตราผู้ติดเชื้อคงที่ เช่นเดียวกับเมื่อไม่มีการเดินทางระหว่างจังหวัดจะทำให้ผู้ติดเชื้อลดลง ย้ำสิ่งที่เรียนรู้จากสถานการณ์ของระบาดโควิด-19 นั่นคือเรา ยืมจมูกใครหายใจไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ต่อไปเราต้องตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์ ทางการแพทย์ อย่างจริงจัง ของบางอย่างมีความจำเป็นที่ไทยต้องผลิตเองได้ ยกตัวอย่าง เช่น ฟาวิพิราเวียร์ ตัวยาต้าน ‘โควิด-19’ ที่ตนเองสามารถหามาได้เพียง 280,000 เม็ดเท่านั้น ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการรักษา ย้ำสิ่งที่มันนำเสนอในวันนี้อยากให้ขยายผลไปยังโรงพยาบาลในชุมชน ซึ่งจะเป็นความร่วมมือในการป้องกันโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ตามสภาพของแต่ละท้องถิ่น ย้ำความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ที่จะเข้าไปดูแลผู้ป่วย โควิด-19 ในระยะใกล้ชิดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดใช้ทุกอย่างที่มีสร้างความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์และชื่นชมโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติมีอุปกรณ์ใหม่ๆเข้ามานับเป็นสิ่งที่ดีมากทางการแพทย์ไทยในภาวะวิกฤตโควิด-19 ในไทยย้ำว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว เชื่อมั่นว่าจะชนะโควิด-19 ได้แน่นอน
นอกจากนี้ นายอนุทินยังพูดถึงความผูกพันธ์ ที่มีต่อ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะบิดาของตนเองก็จบที่นี่ ส่วนตัวเองก็จบจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Mini MBA) เมื่อปี 2533 พร้อมทั้งพูดติดตลกว่า แฟนคนเเรกก็เรียนที่ธรรมศาสตร์ด้วย ขณะนั้นการเดินทางไปหากันต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง จากนั้นได้เดินทางต่อไปยังโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ เพื่อตรวจเยี่ยมบุคลากรทางการแพทย์
ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และผู้ริเริ่มโรงพยาบาลสนามฯ เปิดเผยว่า รพ.สนามธรรมศาสตร์ เป็นต้นแบบของการจัดตั้งโรงพยาบาลในรั้วมหาวิทยาลัย รับมือ COVID-19โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์มีความพร้อมทั้งระบบการจัดการและโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นระบบไอที การจัดการห้องพัก ตลอดจนการรักษาที่ครอบคลุมทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งหมดคือรูปธรรมในการปรับพื้นที่มหาวิทยาลัยไปเป็นโรงพยาบาลสนามอย่างแท้จริง หลักการสำคัญของโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ขนาด 308 เตียง คือการรองรับผู้ป่วยที่เกินกว่าศักยภาพเตียงของโรงพยาบาลรัฐ
“ต่อไปนี้เราคือเพื่อนร่วมรบ ขาดอะไรธรรมศาสตร์จะหาให้ พวกเราทุกคนจะได้ทำงานแบบมั่นใจ ถ้าพวกคุณหนักใจอะไรก็บอกธรรมศาสตร์ เราพร้อมไปช่วยทันที นึกเสมอว่า ที่ตั้งของธรรมศาสตร์ อยู่ปทุมธานี ไม่มีวันไหนที่เราธรรมศาสตร์ไม่คิดถึงความทุกข์ยากของชาวปทุมฯ เรามาร่วมสู้กันสักตั้ง!”
รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ชวน ทุกโรงพยาบาลในจังหวัดปทุมธานีมารบกับโควิด- 19เรียกทุกโรงพยาบาลมาเอาเครื่องมือแพทย์ฯ ให้สู้ด้วยกันเหมือนเรียกมากอดกันและตบไหล่ว่า “กูไม่ทิ้งมึงนะปทุมฯเพื่อนรัก”
1.รพ.ธรรมศาสตร์ฯ และโรงพยาบาลสนามฯ ยินดีรับทุกเคสที่เกินกำลังของทุกอำเภอในปทุมธานี
2.รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ย้ำกับเครือข่ายว่า ถ้ากังวลมาก ไม่มีรถมาส่ง เราจะไปรับผู้ป่วยเอง
3.รพ.ธรรมศาสตร์ฯจะจัดหาอุปกรณ์ที่พร้อมที่สุด ให้ทุกโรงพยาบาลของรัฐในปทุมธานี
4.รพ.สนามธรรมศาสตร์ สามารถเป็นโมเดล ให้ทุกโรงพยาบาล โทรปรึกษาได้ทุกเวลาทุกนาที
5.รพ.ธรรมศาสตร์ฯ จะจัดส่งเปลนอนความดันลบ ให้ทุกโรงพยาบาลของรัฐ ในปทุมธานี
6.รพ.ธรรมศาสตร์ จะเพิ่มห้องรักษาสำหรับดูผู้ป่วยโควิด-19 ให้เร็วและมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตอนนี้พร้อม 40 ห้องและเตรียมโรงพยาบาลสนามไว้อีก 308 ห้อง
ด้าน ดร.พินิจ บุญเลิศผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า “โรงพยาบาลธรรมศาสตร์มิใช่แค่เยียวยาแค่โรคภัย แต่ยังเยียวยาจิตใจของคนไทยทั้งชาติ การนำแก้ปัญหาวิกฤติของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ครั้งนี้จะอยู่ในความสำนึกของคนปทุมธานี ล้านกว่าคน และเป็นแบบอย่างให้คนไทยคิดถึง” “เพื่อนแท้” จะเข้ามาในยามที่เราลำบาก เดือดร้อน ต้องการที่พึ่ง “เพราะเราคือครอบครัวไม่ว่าจะเกิดข้อผิดพลาดหรือประสบความสำเร็จยังไงสุดท้ายเราจะยังมีกำลังใจให้ซึ่งกันและกันเสมอ “ธรรมศาสตร์ ไม่เคยทิ้งเพื่อน” เพื่อนแท้จะอยู่กับเราในยามที่เราทุกข์ยากลำบากใจ ลำบากกาย มิหนำซ้ำยังยื่นมือเข้าช่วยเหลือเราในยามที่เราทุกข์ที่สุดของชีวิตไม่ว่าปัญหาจะหนักหนาสาหัสแค่ไหนก็ตาม เป้าหมายของเราก็คือมุ่งสร้างสังคมให้ปลอดภัย และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ให้ไวที่สุด