อธิบดี พช.เชิญชมนิทรรศการจิตรกรรมศิลปะสร้างสรรค์ชุมชน “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับเรื่องเล่าสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดเขาทุเรียน” ณ หอศิลป์จังหวัดนครนายก ปลูกฝังเยาวชนศึกษาประวัติศาสตร์ทรงคุณของชาติไทย
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมน เป็นประธานพิธีเปิดงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ หอศิลป์จังหวัดนครนายก ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนจังหวัดนครนายก อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก โดยมี รศ.ดร.สาธิต ทิมวัฒนบรรเทิง อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พลตรีหญิงปิยะนุช รัตนวิชัย ผู้อำนวยการกองวิชาประวัติศาสตร์ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ร่วมพิธีดังกล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า นิทรรศการภาพวาดเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่อยู่ภายใต้โครงการศิลปะเพื่อสร้างสรรค์ชุมชน “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับเรื่องเล่าสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดเขาทุเรียน จังหวัดนครนายก” เกิดจากความร่วมมือระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เพื่อสนองแนวพระราชดำริและพระราชกรณียกิจที่ทรงพระราชทานให้ชาวนครนายกและนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์นครนายก โดยทรงให้หลักคิดว่าไปอยู่ที่ไหนควรได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของที่นั่น สำหรับจังหวัดนครนายกทรงพระราชทานคำแนะนำให้ศึกษาประวัติศาสตร์การตั้งฐานทัพของทหารญี่ปุ่นที่จังหวัดนครนายก จึงทำให้เรื่องราวนี้ยังคงมีลมหายใจอยู่ในวงแคบแทนที่จะสูญหายไป
นายสุทธิพงษ์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของความสนใจในการศึกษาเรื่องราวนี้ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2553 โดยเมื่อปลายปี พ.ศ.2552 ครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก เรื่องใหญ่ของข้าราชการเรื่องหนึ่ง คือที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านทรงมีแนวพระราชดำริและพระราชทานแนวทาง เป็นพระราโชวาทเอาไว้ว่า อยู่ที่ไหน ก็ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองที่เราไปอยู่ เราเกิดที่ไหน ไปทำงานที่ไหน ก็ต้องหาโอกาสที่จะศึกษา ไม่ใช่เพียงเพื่อเป็นความรู้เพียงอย่างเดียว เราเป็นข้าราชการ เราต้องทำให้พี่น้องประชาชนในบ้านเมืองนั้น เกิดความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของเขาด้วย เพราะเป็นรากเหง้าของชาติกำเนิด และทำให้ได้ช่วยกันสืบทอดต่อไป ซึ่งพวกเราเองก็ต้องอย่าลืมรากเหง้าของพวกเรา และอย่าละเลย ความสำคัญของความเป็นมาของถิ่นที่เราไปอาศัย สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เขาทุเรียน เขาฝาละมี เขาชะโงก ซึ่งเป็นเทือกเขาเดียวกันทั้งหมด ซึ่งเป็นสถานที่ๆ เราได้ต้อนรับทหารญี่ปุ่น จากการศึกษาทำให้ทราบว่ายังมีโครงกระดูกของทหารต่างชาติทางตะวันตก กระดูกของทหารญี่ปุ่นยังมีอยู่ที่บริเวณเขาทุเรียน
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในโอกาสที่ใกล้ถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผมอยากจะใช้โอกาสนี้เชิญชวนทุกๆ ท่านที่ทราบเหตุการณ์และได้สนองแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านได้ร่วมถ่ายทอดเหตุการณ์เพื่อไว้เป็นหลักฐาน เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์เขาทุเรียนสูญหายไป ขอให้ช่วยกันขยายผลให้มีการเล่าเรื่องด้วยภาพ ช่วยกันทำเส้นทางศึกษาประวัติศาสตร์ ช่วงนี้ที่มีการขุดค้นฐานทัพทหารญี่ปุ่นก็จะมีร่องรอยอยู่บนเส้นทางอยู่มาก เหมาะแก่การศึกษา ส่งเสริมให้เกิดการยกพื้นที่นี้ให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวนวัตวิถี และถ่ายทอดเรื่องราวสู่เด็กและเยาวชน เพื่อให้เรื่องราวของบ้านเมืองยังคงอยู่ รวมทั้งสามารถส่งเสริมให้เด็กๆลูกหลานของเราเป็นมัคคุเทศก์ในพื้นที่ได้ด้วย ซึ่งก็ตรงกับหลักการที่ผมได้ให้ไว้ในการประชุมกรมการพัฒนาชุมชนว่า เรื่องสำคัญคือเรื่องของการปฏิบัติบูชา ด้วยการสนองแนวพระราชดำริที่มีอยู่มากมาย เช่น เรื่องการศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของถิ่นฐานที่อยู่ที่เราทำงานอยู่ การธำรงรักษาประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น ความมั่นคงด้านอาหาร เพื่อเป็นการถวายพระพรและแสดงออกถึงความจงรักภักดีแด่องค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อันเป็นที่เคารพรักยิ่งของพวกเราทุกคน ที่จะเป็นประโยชน์ของบ้านเมืองเราต่อไป
ด้าน พลตรีหญิงปิยะนุช รัตนวิชัย ผู้อำนวยการกองวิชาประวัติศาสตร์ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ากล่าวว่า แนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการวิจัยประวัติศาสตร์เมืองนครนายก ที่เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อปีพ.ศ.2532 ที่ทรงวางแผนเป็นโครงการใหญ่ คือการศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเมืองนครนายก ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ในทุกแง่ทุกมุม ตั้งแต่เรื่องราวความเป็นมาของท้องถิ่น การพัฒนาเป็นเมือง เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ การปกครอง สภาพเศรษฐกิจ สภาพสังคม สภาพแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งเริ่มแรกได้ทรงมีพระราชดำริให้ศึกษาเรื่องนครนายกกับสงครามโลกครั้งที่ 2 นำร่องก่อนที่นครนายกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น เป็นที่ตั้งกองบัญชาการและค่ายพักใหญ่ที่สุดของกองทหารญี่ปุ่น สถานที่ใกล้เคียงก็ล้วนเป็นที่สำคัญในยุคนั้น สามารถเก็บข้อมูลไปค้นคว้าได้ง่าย และด้วยอาชีพทหารด้วยแล้ว เนื้อหาบางส่วนที่เกี่ยวกับการทหารและการสำรวจพื้นที่ ก็เป็นงานที่อาจารย์และนักเรียนนายร้อยศึกษากันมา มีความคุ้นเคย จึงเป็นโอกาสที่นักเรียนนายร้อยจะได้ออกสำรวจศึกษาภูมิประเทศในอาณาบริเวณรอบๆที่ตั้งโรงเรียนของตน และท่านยังได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้รับอาสาสมัครจากนักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 4 ปีที่ 5 ที่ศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นเป็นผู้ช่วยเก็บข้อมูลภาคสนามร่วมกับอาจารย์เนื่องจากมีความรู้ทางทหารและยุทธวิธีอีกด้วย
พลตรีหญิงปิยะนุช กล่าวว่าพระองค์ท่านแม้ทรงมีพระราชกรณียกิจด้านอื่นๆอีกมากมาย แต่ทรงติดตามความก้าวหน้าของงานวิจัยอย่างสม่ำเสมอ ทรงหาเวลาเสด็จไปส่งเก็บข้อมูลภาคสนาม สำรวจพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง และสัมภาษณ์ชาวบ้านด้วยพระองค์เองอีกด้วย จึงเป็นภาพที่ชาวจังหวัดนครนายกยังคงตรึงตาและประทับใจไม่รู้ลืม ทั้งยังทรงเสนอผลงานการวิจัยเรื่องนครนายกกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยพระองค์เอง สิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าท่านได้ช่วยสร้างให้เกิดความสนใจในประวัติศาสตร์นครนายก ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ เกิดการสร้างเครือข่ายในการศึกษาประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง
รศ.ดร.สาธิต ทิมวัฒนบรรเทิง อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ช่วงที่ผมทำหน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรจน์ ได้มีงานสำคัญร่วมกันระหว่างคณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ จังหวัดนครนายก ซึ่งในขณะนั้นท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะถ่ายทอดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์บริเวณเขาทุเรียน จังหวัดนครนายก ให้เป็นภาพผลงานจิตรกรรม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาค้นคว้า ท่านสุทธิพงษ์ก็ยังได้ให้ผมนำนิสิต คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาศิลปะจินตทัศน์ ประมาณ 20 คน ไปลงพื้นที่ที่วัดเขาทุเรียน โดยประสานงานกับองค์การบริหารส่วนตำบลเขาพระ ที่ช่วยจัดผู้เฒ่าผู้แก่ประมาณ 4-5 คนมาเล่าเรื่องเหตุการณ์ในช่วงชีวิตที่ร่วมสมัยกับเหตุการณ์สงครามโลกในขณะนั้น หลังจากนั้นก็ให้คณะนิสิตได้เดินทางร่วมสำรวจพื้นที่ เพื่อศึกษาร่องรอยที่ยังปรากฏให้เห็นเด่นชัด เช่น การขุดบ่อน้ำใช้ ที่ยังอยู่ในสภาพที่ยังไม่ทรุดโทรมมากนัก หรือสถานที่เก็บศพทหารญี่ปุ่น เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งทางคณะนิสิตนั้นได้รวบรวมข้อมูลเรื่องเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่นำมาเขียนเป็นภาพได้จำนวน 23 ภาพ และได้มอบให้กับวัดเขาทุเรียน พร้อมกับผลงานการสร้างสรรค์จากอาจารย์ ศิลปิน ศิษย์เก่า รวมทั้งหมดประมาณ 70 ภาพ เพื่อเก็บไว้สร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ต่อไป จึงเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นโครงการบริการวิชาการแก่ชุมชนของคณะศิลปกรรมศาสตร์ที่ได้จัดมาอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
ทั้งนี้กิจกรรมภายในงานได้จัดนิทรรศการจิตรกรรมศิลปะเพื่อสร้างสรรค์ชุมชน “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับเรื่องเล่าสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดเขาทุเรียน จังหวัดนครนายก” จัดระหว่างวันที่ 27 มีนาคม – 30 มิถุนายน 2563 ณ ณ หอศิลป์จังหวัดนครนายก ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนจังหวัดนครนายก อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก