พช. เชิญชวนพี่น้องชาวเหนือ ดำเนินชีวิตด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู้วิกฤตทุกรูปแบบ
วันที่ 19 มีนาคม 2563
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่จังหวัดลำปาง ตรวจเยี่ยมพร้อมให้กำลังใจผู้เข้าอบรมตามโครงการ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมที่ ๔ ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการออกแบบเชิงภูมิสังคมไทย เพื่อการพึ่งตนเองและรองรับภัยพิบัติ โดยมีคณะผู้บริหารกรม ผู้เข้าอบรมให้การต้อนรับ ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง จังหวัดลำปาง
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรในสังกัดกรมการพัฒนาชุมชนและบุคลากรทั้ง ๗ ภาคี ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคสื่อมวลชน ในพื้นที่ดำเนินงานทั่วประเทศ ให้มีความรู้ ความเข้าใจทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รูปแบบประยุกต์โคก หนอง นา โมเดล ที่เราขับเคลื่อนเพราะเป็นหนทางที่จะช่วยสร้างสมดุลธรรมชาติ เพื่อการเตรียมพร้อม มีศักยภาพในการบมือกับภัยคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ โดยใช้ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน 11 แห่ง ประกอบด้วนสระบุรี ชลบุรี, อุบลราชธานี อุดรธานี, นครราชสีมา, ลำปาง, พิษณุโลก, เพชรบุรี, นครศรีธรรมราช, ยะลา และ นครนายก เป็นสถานที่อบรมและแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต การอบรมที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง แห่งนี้ เป็น 1 ใน 11 ศูนย์ฯ ของกรมฯ ที่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ เพราะการทำโคกหนองนานั้น บริบทของแต่ละภูมิภาคไม่เหมือนกัน มีผู้อบรมมาจากภาคเหนือ ประกอบด้วย จ.น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ และเชียงราย หลักสูตรการอบรมมีความเข้มข้นหลากหลายวิชา อาทิ การออกแบบเชิงภูมิสังคมไทยตามแนวพระราชดำริ การวิเคราะห์พื้นที่เพื่อการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ หลักคิดพื้นฐานการออกแบบเชิงภูมิสังคมไทย ดิน น้ำ ป่า คน การพัฒนา 3 ขุมพลังปฏิบัติหลักกสิกรรมธรรรมชาติ การทดลองการจัดทำผลงานออกแบบโต๊ะทราย การฝึกปฏิบัติ Workshop นำเสนอผลงานออกแบบกลุ่ม การออกแบบเชิงภูมิสังคมไทย และการพัฒนา 3 ขุมพลังปฏิบัติการฐานคนรักษ์ป่า ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เป็นต้น
ซึ่งกรมได้รับความอนุเคราะห์ทีมวิทยากรจากมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นำโดย “อาจารย์ยักษ์” ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ หรืออีกบทบาทหนึ่ง คือ ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งในรุ่นนี้ ตลอดหลักสูตรได้รับความอนุเคราะห์จาก ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล (อ.โก้)อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ (อ.หน่า)อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และทีมงานมาช่วยเป็นวิทยากร และเป็นพี่เลี้ยง ร่วมกับทีมงานศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง นำโดยนางอภิญญา โกมลรัตน์ ผอ.ศูนย์ฯ อย่างไรก็ดีการอบรมในรุ่นต่อๆไปที่กำหนดไว้จำเป็นต้องเลื่อนออกไปก่อนเพราะเราต้องปฏิบัติตามมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (โควิด-19) เมื่อสถานการณ์เข้าสู่สภาวิปกติ กรมฯ จะดำเนินการอบรมให้ครบตามจำนวนที่ตั้งเป้าหมายไว้ เพราะเราเชื่อมั่นว่าการดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทย “โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตทุกครัวเรือนทั้งทางด้านอาหารปลอดภัย ทางด้านป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ภัยจากน้ำท่วม ปัญหาหมอกควัน ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นหนทางรอดในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ผมมั่นใจว่าแม้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นขณะนี้จะร้ายแรงขนาดไหน ประเทศเรารอดได้แน่ หากเราช่วยกันนำกลับไปทำเป็นต้นแบบ พร้อมแบ่งปัน ขยายผลศาสตร์พระราชาของเราไปทั่วทุกครัวเรือน
ภาพ/ข่าว ศพช.ลำปาง
สถานีข่าว พช.CNS รายงาน