อุบลราชธานี ไม่พบผู้เข้าข่ายติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมยกระดับ 4 มาตรการควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มข้น

อุบลราชธานี ไม่พบผู้เข้าข่ายติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมยกระดับ 4 มาตรการควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มข้น

17 มี.ค.63​ ที่ห้องประชุมพรหมราช ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นายแพทย์สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี และนายแพทย์มนต์ชัย วิวัฒนาสิทธิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในกรณีรายงานผู้ป่วยเข้าข่ายติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของจังหวัดอุบลราชธานี ที่มาจากแหล่งเสี่ยงสนามมวยลุมพินี เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ว่า บุคคลดังกล่าวเป็นชายชาวอุบลราชธานี อายุ 28 ปี ที่ได้ไปชมการแข่งขันชกมวยที่สนามมวยลุมพินี กรุงเทพฯ และเดินทางกลับจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2563 ทางเครื่องบิน มีประวัติเดินทางไปเที่ยวสถานบันเทิง 2 แห่ง และเข้าพักโรงแรม จากนั้นได้มีอาการป่วยและเข้ารับการรักษาที่คลินิกและโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดอุบลราชธานี และถูกต่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โดยมีผู้สัมผัสใกล้ชิดซึ่งเป็นภรรยา ทั้งนี้ จังหวัดอุบลราชธานีได้ส่งสิ่งส่งตรวจ ของทั้ง 2 ราย เพื่อหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยและสถาบันบำราศนราดูร พบว่าผลตรวจทั้ง 2 แห่ง ยังไม่ตรงกัน จึงต้องรอผลตรวจยืนยันซ้ำอีกครั้ง และจะทราบผลภายใน 24 48 ชั่วโมง


ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ยืนยันว่า ขณะนี้จังหวัดอุบลราชธานี ได้ยกระดับการควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มข้น ตาม 4 มาตรการ คือ 1. มาตรการด้านความปลอดภัยด้านสาธารณสุข เฝ้าระวังคัดกรองผู้เดินทางเข้ามาในจังหวัดอุบลราชธานีทุกคนทั้งชาวไทยและต่างชาติ ที่สนามบิน ด่านควบคุมโรค ช่องทางเข้า ออกประเทศ สถานีรถไฟ โรงแรมที่พัก ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. เคาะประตูบ้านเฝ้าระวังค้นหากลุ่มเสี่ยงเพื่อลงทะเบียนเฝ้าระวังตลอด 14 วัน เริ่มตั้งแต่เข้ามาในจังหวัดอุบลราชธานี เพิ่มช่องทางรับรายงานตัวและตรวจคัดกรอง เน้นย้ำให้ประชาชนและผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยเฝ้าระวังตนเอง หากมีอาการป่วยให้รีบติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ณ สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที 2. มาตรการด้านกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรค โดยจัดกิจกรรมสัปดาห์รณรงค์ทำความสะอาด Big Cleaning Day พร้อมกันทั้งจังหวัด ระหว่าง 18 มี.ค – 30 เม.ย 63 รวมทั้งยกเลิกและเลื่อนกิจกรรมชุมนุมที่มีคนตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป หากเลื่อนไม่ได้ต้องแจ้งต่อนายอำเภอและดำเนินการตามมาตรการของสาธารณสุขอย่างเข้มข้น เช่น คัดกรองไข้ ใช้หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และจัดระยะห่างระหว่างบุคคลไม่น้อยกว่า 1 เมตร และขอความร่วมมือผู้ที่เป็นไข้หรือมีอาการคล้ายหวัดให้รับรักษาในสถานบริการใกล้บ้าน หยุดกิจกรรมนอกบ้านและพื้นที่เสี่ยง พร้อมกักตัวอยู่ในบ้านจนกว่าจะหาย 3. มาตรการทางการแพทย์ เตรียมห้องรักษาพยาบาล ห้องความดันลบ ห้องแยกโรคส่วนบุคคล หอผู้ป่วยแยกโรค และหอผู้ป่วยหนัก รวม 120 เตียง และพร้อมเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มอีก 65 เตียง และมีทีมหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อระดับจังหวัดและอำเภอ พร้อมทีมแพทย์และนักวิชาการ ครบทั้ง 25 อำเภอ และ 4 มาตรการขอความร่วมมือและการปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคของประชาชน ตามคำแนะนำกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงการไปในที่ที่มีคนจำนวนมากและแออัด

เอกชัย​โป​ธา​ ข่าว​ภูธร​ รายงาน​