อธิบดี พช. แนะนักพัฒนาต้องทัศนคติดี มีความตั้งใจ ทำให้ประชาชนมีความสุข

อธิบดี พช. แนะนักพัฒนาต้องทัศนคติดี มีความตั้งใจ ทำให้ประชาชนมีความสุข

เมื่อวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม 2563 ณ วิทยาลัยการพัฒนาชุมชน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน บรรยายพิเศษ หัวข้อ “นักพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่ชุมชน” ตามโครงการฝึกอบรมหลักสูตรนักพัฒนาชุมชน รุ่นที่ 28 โดยความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มเป้าหมาย ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนระดับปฏิบัติการและชำนาญการจากทั่วประเทศการ จำนวน 72 คน วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มทักษะและเสริมขีดสมรรถนะความสามารถให้เป็นนักพัฒนาแบบมืออาชีพ

อธิบดี พช. กล่าวว่า “กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นตั้งมา 15 ปี แม้จะเป็นกรมฯใหม่แต่ถือว่า มีความสำคัญเพราะต้องทำงานใกล้ชิดกับตัวแทนของพี่น้องประชาชน ซึ่งได้แก่ นายก อปท.และ สมาชิก อปท. ที่สำคัญที่สุด คือกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องเป็นหุ้นส่วนกับ อปท. ในการที่จะพัฒนายกระดับสิ่งที่เป็นเป้าหมายสูงสุด คือ การให้พี่น้องประชาชนทุกตำบลทุกหมู่บ้านสามารถดูแลชีวิตความเป็นอยู่ได้ด้วยตัวเอง ตามหลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของไทยเรา ซึ่งถ้าพวกเราสังเกตก็จะเห็นว่าโครงสร้างของ อปท. จะเหมือนกับรัฐบาลกลางของประเทศคือ จะมีฝ่ายนิติบัญญัติ มีสภา มีฝ่ายบริหาร มีฝ่ายประจำ ซึ่งความหวังสูงสุดของ อปท. ก็อยู่ที่ฝ่ายประจำ ก็คือพวกพี่ๆ น้องๆ ที่อยู่ในห้องนี้ เพราะมีความเปราะบางมากกว่าทุกฝ่าย เป็นเรื่องความมั่นคงในอาชีพ และมีข้อกำหนดตามบทบัญญัติตามกฎหมายที่สามารถลงโทษพวกเราได้หากทำหรืองดเว้นการกระทำตามความผิด ซึ่งถ้าทำผิดพลาดไปก็จะหมดอาชีพ ฉะนั้น พวกเราจะต้องเตือนใจตนเองเสมอว่าเราจะเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนั้น สิ่งที่เราทุกคนต้องยึดถือเป็นหน้าที่ คือ การดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ของกระทรวงมหาดไทย การบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน คือ ทำให้พี่น้องประชาชนชื่นใจ โดยเริ่มตั้งแต่ ตั้งใจทำหน้าที่ มีทัศนคติที่ดีในการทำงานราชการ รู้จักบทบาทของตัวเอง รับใช้พี่น้องประชาชน เห็นเป็นเหมือนญาติมิตร มีอัธยาศัยพูดจาทักทายดี ให้บริการและคำแนะนำที่ดี

การทำงานของพวกเราชาวองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือฝ่ายปกครอง หรือ ข้าราชการ
กรมการพัฒนาชุมชน มีเป้าหมายที่สำคัญเหมือนกัน คือ ต้องการให้ชาวบ้านความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินกำหนดให้มีการแบ่งงานกันทำ แต่เวลาปฏิบัติงานจริงต้องมีการ
บูรณาการกัน เราต้องเก่งแบบเป็ด คือ เก่งหลายเรื่อง คนคนเดียวต้องสามารถรอบรู้และก็ทำงานได้หลายเรื่อง พวกเราบางคนเป็นช่าง บางคนเป็นคลัง บางคนเป็นฝ่ายพัฒนาชุมชน บางคนเป็นฝ่ายกฎหมายเป็นนิติกร ถ้าทุกคนรู้แต่งานของตัวเอง ทำแต่งานของตัวเองจะลำบาก เพราะการลงไปทำงานในพื้นที่กับพี่น้องประชาชนในฐานะของนักพัฒนาชุมชน ไม่ใช่ทำภารกิจแค่กระทรวงเดียวชาวบ้านจะมีความสุข แต่ต้องเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ทบวง กรม ดังนั้น นักพัฒนาชุมชน ต้องทำได้ทุกเรื่องทั้งเรื่องสุขภาพพลานามัย การศึกษา การพัฒนาจิตใจตามหลักศาสนา และทำให้คนในชุมชนรู้เท่าทันไม่ถูกหลอก หาเลี้ยงชีพได้รวมถึงต้องรู้ว่าในชุมชนมีปราชญ์ชุมชน ปราชญ์ท้องถิ่น เช่น คนนี้เลี้ยงไก่เก่ง คนนี้ทำนาเก่ง คนนี้จักสานเก่ง คนนี้ทอผ้าสุดยอด คนนี้ทำกับข้าวอร่อยมาก อยู่ที่ไหนบ้าง เพราะสามารถนำไปพัฒนาอาชีพได้หมด

นอกจากนั้น นักพัฒนาชุมชนต้องดูภูมิสังคมประกอบด้วย เพราะสามารถเอามาใช้เกื้อกูลกับการทำงานได้หมด การทำให้ชาวบ้านมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงถือเป็นภารกิจหลักของนักพัฒนาชุมชน ซึ่งคนจะมีความสุขมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เขาต้องมีส่วนร่วม ซึ่งงานแรกที่ต้องทำให้คือทำให้คนในสังคมมีความรัก มีความสามัคคี และเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในตำบลหมู่บ้านของตัวเอง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนจะต้องมีทัศนคติที่ดี มีเป้าหมายในการทำงาน ทำงานเชิงรุก ไม่ใช่รอให้เขามาตามงาน อย่างไรก็ตามถ้าดู ในโครงสร้างของระบบราชการ กระทรวงมหาดไทย กำหนดให้กรมการพัฒนาชุมชนอยู่ในกลุ่ม (Cluster) เดียวกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพราะบริบทของงานเกื้อหนุนกัน และมีหน้าที่เหมือนกันและร่วมกัน ดังนั้น จึงต้องช่วยกัน ตัวอย่างเช่น กรณีปัญหายาเสพติด ข้าราชการของกรมการพัฒนาชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ต้องไปจับพวกติดยาบ้า แต่มีหน้าที่รณรงค์ป้องกันไม่ให้คนไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด โดยการส่งเสริมให้เล่นกีฬา มีการรวมกลุ่ม มีสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา มีสวนสาธารณะ มีกิจกรรมวัฒนธรรมประเพณี หากรู้ว่าใครติดยาเสพติดต้องพาไปบำบัดรักษา ในอนาคตจะไม่มีส่วนกลางและภูมิภาคจะมีแต่ส่วนท้องถิ่น ดังนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเอางานของทุกกระทรวงทบวงกรมไปทำ แม้ว่าในปัจจุบัน อปท.จะมีจำนวนบุคลากรและศักยภาพยังไม่เพียงพอ แต่ก็ถือว่ามีพัฒนาการที่ดี ซึ่งจะมีพัฒนาการได้เร็วพวกเราต้องช่วยกันทำผลงานให้ปรากฏ เพื่อแสดงให้เห็นว่างานที่มอบให้ อปท.ทำสำเร็จ ซึ่งจะสำเร็จได้นอกจากทัศนคติแล้ว ยังต้องอยู่ที่ความสามารถด้วย ซึ่งไม่มีใครจะเก่งทุกเรื่องต้องมีการบูรณาการกัน การทำทุกเรื่องเบ็ดเสร็จ one stop service ในตัวคนๆเดียวเป็นไปได้ยาก ดังนั้นเราต้องดึงคนเก่งมาช่วยเสริมความสามารถในการทำงาน ต้องรู้ว่าใครเก่งเรื่องอะไรสามารถใช้คนให้ถูกกับงานหรือ put the right man on the right job

 

กระทรวงแต่ละกระทรวงรับผิดชอบงานอะไร พวกเรารู้หมด เราสามารถบูรณาการเอางานที่แต่ละกระทรวงรับผิดชอบมาได้ 2 วิธี คือ วิธีที่ ๑ ชวนกันออกไปทำงานด้วยกัน ซึ่งทำได้เป็นครั้งคราว เพราะว่าส่วนภูมิภาครับผิดชอบงานในพื้นที่ทั้งอำเภอ ส่วนวิธีที่ 2 ซึ่งมีโอกาสสูง คือ รับเอาองค์ความรู้ของแต่ละหน่วยงานมาอยู่ที่ตัวเรา และนำไปวางแผนดำเนินการ ยกตัวอย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และคุณภาพชีวิต สมัยผมเป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ส่งเสริมเรื่อง ถังขยะเปียกลดโลกร้อน โดยการนำเอาขยะเปียกเน่าเหม็นและมีเชื้อโรค นำมาใส่ถังขยะเปียกลดโลกร้อน แล้วปิดฝาแล้วก็ใส่ปุ๋ยลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไข่เน่าต่าง ๆ ไม่ให้ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศต่าง ๆ ไม่ให้เกิดโลกร้อน คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น และเมื่อรู้จักคัดแยกขยะเปียก แล้วก็ดำเนินงานต่อไปที่ขยะรีไซเคิล ขยะ reuse ขยะพิษ โดยการสอนเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของท้องถิ่น ให้มีวินัยรู้จักแยกขยะ ซึ่งก็ไม่ใช่งานของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งเป็นงานของหลายกระทรวง นักพัฒนาชุมชนเปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีของพื้นที่ดังนั้นต้องบริหารจัดการงานและบูรณาการงานทุกกระทรวง ทบวง กรม ให้ขับเคลื่อนไปสู่พี่น้องประชาชนให้ได้ เมื่อเรามีบุคลากรน้อย ดังนั้นถ้าจะทำให้สำเร็จต้องมีระบบในการที่จะช่วยเหลือกัน นอกจากนั้น งานพัฒนาชุมชนต้องพัฒนาทั้งในระดับบุคคล และระดับครัวเรือน ซึ่งในแต่ละครัวเรือนมีบุคคลหลายบุคคลที่มีอายุที่แตกต่างกัน จึงต้องมีการพัฒนาที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ต้องเริ่มที่พวกเราก่อนก็คือนักพัฒนาชุมชน ปรับทัศนคติ ต้องมีความตั้งใจ เช่น ตั้งใจว่าจะต้องทำถังขยะเปียกให้ครบทุกครัวเรือนให้ได้ มีพืชผักสวนครัวให้เป็นยารักษาโรคให้ได้ ประการสำคัญนักพัฒนาชุมชน ต้องรู้จักชาวบ้านในพื้นที่และทำงานใกล้ชิดกับประชาชน

เรื่องต่อไปคือเรื่องวิกฤตการณ์เรื่องน้ำ แพริมน้ำตอนนี้ไม้ไผ่แตกหมดรับน้ำหนักไม่ได้ แล้งจนแพพัง ต้องคิดว่าจะหาไม้ไผ่ที่ไหน หาแรงงานที่ไหนมาแบ่งเบาภาระของชาวบ้าน นอกจากนั้นโรคระบาดก็เป็นสถานการณ์โลกอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับคนไทย เพราะคนไทยเจ็บป่วยเพราะการบริโภคเป็นอันดับ 1 ทั้งโรคไขมัน เบาหวาน ไขมัน โรคเก๊า และ ตับแข็ง ซึ่งเกิดจากบริโภคสารพิษจากพืชผักผลไม้ ซึ่งเรื่องนี้กรมการพัฒนาชุมชน ได้รณรงค์ส่งเสริมให้ความรู้ให้คนในชุมชนมีดวงตาเห็นธรรม เป็นบัวพ้นน้ำ โดยเริ่มที่ส่งเสริมให้ครอบครัวปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงกบ เพื่อให้ลดการพึ่งพาตลาดหรือรถพุ่มพวง ในส่วนของพืชผักสวนครัวรั้วกินได้อย่าไปคิดว่าเป็นแค่ผักบุ้ง อาจเป็นผักที่ปลูกได้ครั้งเดียวอยู่ได้ตลอดปี เช่น ชะอม มะกรูด มะนาว มะพร้าว บางหมู่บ้านปลูกต้นมะม่วงหิมพานต์ทุกบ้านเพราะเขานิยมกินกัน สรุปก็คือว่า ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก มีเหลือก็แบ่งปัน หลังจากเหลือแบ่งปันแล้วก็ไปขาย ครัวเรือนก็เข้มแข็ง เพราะคนในบ้านไม่มีเวลาไปหมกมุ่นในอบายมุข ต้องรดน้ำพรวนดิน มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเพราะลดรายจ่าย และมีรายได้เพิ่มจากการจำหน่าย นอกจากนั้นเมื่อมีการแบ่งปันให้ผู้อื่นก็จะเป็นที่รักของเพื่อนบ้าน เพราะผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก และสุขภาพร่างกายแข็งแรงไม่ต้องไปหาหมอเพราะออกกำลังกายด้วยการรดน้ำพรวนดินเก็บผัก และมีอาหารเป็นยา เพราะพืชผักที่อยู่รอบบ้านไม่ได้ฉีดยา ยกตัวอย่างที่ตำบลโก่งธนูทุกบ้านมีผักสวนครัวรั้วกินได้มีผักมากกว่า 10 อย่าง เพราะแต่ละบ้านปลูกผัก 10 อย่าง มีการแลกเปลี่ยนพืชผักสวนครัว มีถังขยะเปียกลดโลกร้อนครบ 100% มีกองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้านของ อบต.โก่งธนูไม่มีหนี้เสียสามารถจัดสวัสดิการให้คนตายได้หลายแสน ต่อคน มีธนาคารขยะ มีตลาดนัดขยะ เป็นต้น

ส่วนในระดับอาชีพกรมการพัฒนาชุมชนอยากชวนพี่ ๆ น้องๆ ทุก อปท. ทั้ง 7,852 แห่ง ทั่วประเทศ รณรงค์ให้คนไทยกลับมาหวนคำนึงนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงมีต่อ พสกนิกรชาวไทย ในเรื่องของทฤษฎีใหม่ ในรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล กล่าวคือ แนวคิดทฤษฎีใหม่ของรัชกาลที่ 9 ทรงทดลองในพื้นที่ทุรกันดารอยู่ในป่าในเขา ที่วัดชัยพัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี บริหารจัดการพื้นที่แบ่งเป็น 30% สำหรับทำนา 30% สำหรับทำแหล่งน้ำ 30% สำหรับทำการเกษตร อื่น ๆ ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นและ 10% สำหรับที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งต่อมา “อาจารย์ยักษ์” ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีต รมช.เกษตรฯ ได้นำเอาแนวคิดทฤษฎีใหม่ ของรัชกาลที่ ๙ มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่เรียกแบบชาวบ้านว่า “โคกหนองนา” เพราะมีขนำ มีต้นไม้ มีโคก มีหนองที่อยู่ของปลาสอดคล้องกับกับวิถีชีวิตของคนสมัยก่อน จึงขอให้พวกเราไปศึกษาดู เพราะจะเป็นวิธีการแก้วิกฤตการณ์ของโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ต้นทุนการทำเขื่อนทำอ่างเก็บน้ำ กรมชลประทาน 1 ลูกบาศก์เมตรในราคา 40-60 ล้านบาท แต่ถ้าเราทำ โคก หนอง นา ทุกที่ในประเทศนี้ ทำเพียงคนละ 5 ไร่ 10 ไร่รวมแล้ว คำนวณทั่วประเทศใช้ต้นทุน 6 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนั้น โคก หนอง นา ยังสามารถแก้วิกฤตการณ์เรื่องน้ำด้วยการทำหลุมขนมครกและคลองไส้ไก่ ในเลือกสวนไร่นา ถ้าทุกคนมีหนองมีหลุมขนมครกและมีคลองไส้ไก่ในพื้นที่ของตนเอง ก็สามารถพึ่งพาตนเองได้ไม่ต้องพึ่งฝนหลวง ไม่ต้องพึ่งหน่วยงานรัฐ อย่างไรก็ตามระดับแรกต้องเริ่มจากครัวเรือนโดยการปลูกพืชผักสวนครัวก่อน ส่วนระดับอาชีพให้ทำโคก หนอง นา ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน ได้เชิญชวนตัวแทนหมู่ละ 1 ครอบครัวเข้าสมัคร อปท.จะเข้าร่วมได้อย่างไรท่านต้องศึกษาให้เข้าใจและขับเคลื่อนไปด้วย ถ้าพวกเราช่วยกันรณรงค์ ส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จ ผู้คนจะมีความสุขประเทศชาติพ้นวิกฤต คนมีกินมีใช้ ไม่ต้องกลัวตกงาน แต่ถ้าเรานิ่งเฉยวิกฤตการณ์จะยิ่งเลวร้าย ผมจึงขอเชิญชวนให้พวกเราปรับทัศนคติ ตั้งเป้าหมายการทำงาน ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และบูรณาการการทำงานร่วมกัน ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน ขอให้ไปช่วยกัน ให้คำนึงถึงพี่น้องประชาชนว่าเขาเหมือนญาติผู้ใหญ่ดูแลพูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบ เพื่อให้เขาได้รับความชื่นใจเหมือนกับพระราชดำรัสพระบรมราโชวาท ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานให้กับข้าราชการพลเรือนว่า “ข้าราชการ คือ ผู้ที่ทำให้ประชาชนชื่นใจ”

สถานีข่าว พช. CNS. รายงาน