กาญจนบุรีงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field day) “การจัดการใบและเศษซากอ้อยหลังเก็บเกี่ยวอ้อยสด”ภายใต้โครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ กรมวิชาการเกษตร ปีงบประมาณ 2563
ที่ บริเวณแปลงอ้อยทางเข้าโรงงานน้ำตาลเมืองกาญจน์ ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี นายปัญญา พุกสุ่น ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 เป็นประธานในงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field day) “การจัดการใบและเศษซากอ้อยหลังเก็บเกี่ยวอ้อยสด”ภายใต้โครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ กรมวิชาการเกษตร ปีงบประมาณ 2563 โดยมี นางนิลุบล ทวีกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ (ภาคกลาง) หัวหน้าโครงการพัฒนาต้นแบบการเก็บเกี่ยวอ้อยสดเข้าโรงงานเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายสงัด ดวงแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี หัวหน้าส่วนราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรชาวไร่อ้อย เจ้าที่โรงงานน้ำตาล หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี นักวิชาการจากกรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 100 คน
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ร่วมกับ ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field day) “การจัดการใบและเศษซากอ้อยหลังเก็บเกี่ยวอ้อยสด” เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการเศษซากอ้อยหลังเก็บเกี่ยวอ้อยสดและก่อนการเตรียมดิน ลดปัญหาการเผาใบ และเศษซากอ้อยของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ได้ผลผลิตอ้อยสดที่มีคุณภาพ และเพียงพอต่อความต้องการของโรงงาน อันจะก่อให้เกิดความยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในอนาคต ภายในงานมีการนำเสนอนิทรรศการภาคโปสเตอร์ การบรรยายให้ความรู้ และการสาธิตการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร มีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย
จังหวัดกาญจนบุรีมีพื้นที่ปลูกอ้อย 740,077 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 9.60 ตันต่อไร่ มีโรงงานน้ำตาล 8 โรงงาน ซึ่งถือเป็นลำดับที่ 1 ของประเทศ แต่ในส่วนของปริมาณอ้อยไฟไหม้ มีเข้าโรงงานมากเป็นลำดับที่ 2 ของประเทศเช่นกัน ที่ผ่านมาการเก็บเกี่ยวอ้อยส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ใช้วิธีการเผาอ้อย เพื่อให้คนงานเข้าตัดอ้อยได้สะดวก รวดเร็ว และเนื่องจากห้วงระยะเวลาการเปิดหีบอ้อยมีจำกัด มีรถตัดอ้อยไม่เพียงพอ สภาพพื้นที่ไม่เหมาะสมต่อการใช้รถตัดอ้อย จึงใช้ทางเลือกด้วยการจุดไฟเผาอ้อย ซึ่งเป็นสาเหตุของการสร้างมลพิษ ฝุ่นควันทางอากาศ ทำลายสิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของคนจังหวัดกาญจนบุรี และในพื้นที่ภาคกลางอย่างต่อเนื่องยาวนาน จากปัญหาดังกล่าว กรมวิชาการเกษตร โดยศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน จึงพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรลดการเผาอ้อย ได้แก่ เครื่องสับใบและกลบเศษซากอ้อย เครื่องสับใบระหว่างแถวอ้อยตอ และเครื่องเตรียมดินปลูกอ้อยแบบสไตรพ์ทิลเลจ เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตอ้อย และที่สำคัญเป็นการลดการเผาอ้อยที่เป็นปัญหาต่อสภาพอากาศในภาพรวมอีกด้วย
เกษร เสมจันทร์