มหาวิทยาลัยมหิดล จัดแถลงข่าวแนะนำเว็บไซต์รายงานคุณภาพอากาศ ตำบลศาลายาและมาตรการลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ ห้องประชุมศาสตรเมธี ชั้น 2 อาคารสิ่งแวดล้อมพัฒนดล คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
มหาวิทยาลัยมหิดล จัดแถลงข่าวแนะนำเว็บไซต์รายงานคุณภาพอากาศ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และมาตรการลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ร่วมกับคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันพัฒนาเว็บไซต์รายงานคุณภาพอากาศ เว็บไซต์ https://mahidol.ac.th/aqireport ซึ่งมี ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รองศาสตราจารย์ ดร.สุระ พัฒนเกียรติ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และรองศาสตราจารย์ ดร.เอื้อมพร มัชฌิมวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีฝ่ายการคลัง ร่วมแถลงข่าวแนะนำเว็บไซต์รายงานคุณภาพอากาศ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มหาวิทยาลัยมหิดลมีความมุ่งมั่น ในด้านความเป็นเลิศและเป็นผู้นำด้านการบริการวิชาการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตามความต้องการของสังคมอย่างมีส่วนร่วม โดยเฉพาะด้านสุขภาพและสุขภาวะ ด้วยความร่วมมือระหว่าง คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล
1) มหาวิทยาลัยมหิดล มีความห่วงใยและให้ความสำคัญต่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งมีแนวโน้ม เกินค่ามาตรฐานในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงต้นปี และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของนักศึกษาและ บุคลากรของมหาวิทยาลัย ตลอดจนประชาชนโดยรอบมหาวิทยาลัย
2) คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ร่วมกันพัฒนา เว็บไซต์รายงานคุณภาพอากาศ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม (ที่ตั้งสถานี ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา) พร้อมทั้งสามารถเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อตรวจสอบ คุณภาพอากาศบริเวณริมถนนซอยนิคมบ้านพักรถไฟธนบุรี ๕ เขตบางกอกน้อย และริมถนนพญาไท เขตราชเทวี เพื่อรายงานคุณภาพอากาศรายชั่วโมง พร้อมคำแนะนำในการปฏิบัติตนที่สอดคล้องกับ สถานการณ์ แก่ประชาคมมหิดล ซึ่งประกอบด้วย นักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร รวมทั้งประชาชนโดยรอบ มหาวิทยาลัย
3) ข้อมูลคุณภาพอากาศในเว็บไซต์ :ได้จากการตรวจวัดโดยรถตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติ (ติดตั้ง ณ ประตู 3 มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา) ซึ่งใช้เครื่องวัดและวิธีการมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด และได้รับการรับรองจากองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (US EPA) จึงได้รับการ ยอมรับในระดับสากล อีกทั้งมีการสอบเทียบเครื่องมือเป็นประจำ • ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศมีความถูกต้อง แม่นยำสูง ใกล้เคียงกับความเป็นจริง และ น่าเชื่อถือทางวิชาการ • มีการแสดงผลและข้อมูลที่เข้าใจได้ง่าย สะดวกต่อการใช้งาน และมีความรู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
4) ประชาคมมหิดล สามารถเข้าใช้งานเพื่อติดตามคุณภาพอากาศรายชั่วโมงของพื้นที่ศาลายา บางกอกน้อย และพญาไท พร้อมคำแนะนำในการปฏิบัติตน ได้ที่เว็บไซต์ https://mahidol.ac.th/aqireport หรือ แอพลิเคชั่น We Mahidol
5) คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ยังขอเชิญชวนประชาคมมหิดล และประชาชนทั่วไป ร่วมกันลด ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ด้วย4 มาตรการ ได้แก่
ตรวจสอบ ตรวจสอบเครื่องยนต์ของยานพาหนะให้อยู่ในสภาพดีเสมอ และไม่ใช้ยานพาหนะที่มีควันดำ เพราะเป็น แหล่งกำเนิด PM2.5 ที่สำคัญ รวมทั้งดับเครื่องยนต์ขณะจอดรถ เพราะไอเสียมีมลพิษมากกว่ารถที่วิ่งตามปกติ 5 เท่า ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมควรตรวจสอบระบบบำบัดคุณภาพอากาศให้ทำงานและมีประสิทธิภาพดี เสมอ สำหรับโครงการก่อสร้างควรมีมาตรการลดและป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง
เปลี่ยนใจ เปลี่ยนใจเดินทางด้วยกันด้วยพาหนะคันเดียว (Car Pool) หรือใช้ระบบขนส่งสาธารณะทุกครั้งเมื่อมีโอกาส เพื่อลดปริมาณรถยนต์บนถนน และลดการปล่อยมลพิษ ซึ่งรวมถึง PM2.5 นอกจากนี้ ควรเปลี่ยนไปใช้ เชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น เช่น ก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมันที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซล หรือเอทานอล รวมทั้งงดสูบ บุหรี่ และลดการจุดธูป เพราะควันที่เกิดขึ้นมีทั้ง PM2.5 และสารก่อมะเร็ง
ไม่เผา ไม่เผาในที่โล่ง เช่น เผาขยะ เผาตอซังหรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพราะนอกจากทำให้เกิด PM2.5 แล้ว มลพิษจากการเผาขยะยังเป็นสารก่อมะเร็ง ส่วนการเผาตอซังหรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรยังเป็นการ ทำลายอินทรียวัตถุที่ช่วยปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้ต้องเสียเงินค่าปุ๋ยเพิ่ม
เล่าต่อ บอกเล่าและส่งต่อข้อมูลวิธีลด PM2.5 และแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องในการติดตามปริมาณฝุ่นละอองและปฏิบัติตน กรมควบคุมมลพิษ http://air4thai.pcd.go.th กรุงเทพมหานคร https://bangkokairquality.com มหาวิทยาลัยมหิดลและพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบ https://mahidol.ac.th/aqireport
6) การดำเนินงานดังกล่าวมา เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนและตอบสนองต่อปณิธาณอันแน่วแน่ของ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” รวมทั้งความมุ่งมั่นในด้านความเป็นเลิศ การเป็นผู้นำ และต้นแบบของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และพัฒนาคุณภาพชีวิตตามความต้องการของสังคมอย่างมีส่วนร่วม โดยเฉพาะด้านสุขภาพและสุขภาวะ
ซึงการจัดทำ เว็บไซต์ https://mahidol.ac.th/aqireport เพื่อรายงานคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองรายชั่วโมง พร้อมคำแนะนำในการปฏิบัติตนที่สอดคล้องกับสถานการณ์ แก่ประชาคมมหิดล ซึ่งประกอบด้วย นักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร รวมทั้งประชาชนโดยรอบมหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย