คณะพยาบาลศาสตร์ ม.มหิดล ร่วมกับ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช และสมาคมศิษย์เก่าพยาบาลศิริราชฯ จัดประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง N-nergizing Nursing Profession for NCD Challenges (N3 Nursing Conference)
วันที่ 8 มกราคม 2563 ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง “N-nergizing Nursing Profession for NCD Challenges (N3 Nursing Conference)” โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร. ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลให้เกียรติเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ
รองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Non communicable diseases (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วนลงพุง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง กำลังเป็นปัญหาสำคัญที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ จึงเป็นความท้าทายของวิชาชีพพยาบาล เนื่องจากวิชาชีพพยาบาลถือว่าเป็นแกนหลักสำคัญในระบบสุขภาพ มีหน้าที่หลักในการดูแลและสนับสนุน ให้ความรู้และแนะนำแนวทางในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยให้ดีขึ้น คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันการศึกษาพยาบาลชั้นนำของประเทศไทย ได้ตระหนักถึงปัญหาสำคัญดังกล่าว จึงได้ร่วมกับฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช สมาคมศิษย์เก่าพยาบาลศิริราชในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จัดการประชุมวิชาการนานาชาติในหัวข้อ “N-nergizing Nursing Profession for NCD Challenges (N3 Nursing Conference)” ที่โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 8- 10 มกราคม 2563
โดยได้รับความร่วมมือในการจัดงาน (Co-organizer) จากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) และยังมีองค์กร โรงพยาบาล สถาบันการศึกษาต่างๆ และทั้งในและต่างประเทศรวม 19 สถาบัน ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และยังได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่มากด้วยความสามารถในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งสิ้น 570 คน จาก 18 ประเทศทั่วโลก และมีการนำเสนอผลงานวิจัย กว่า 100 ผลงาน นับว่าการประชุมครั้งนี้ เป็นเวทีระดับโลกในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้มแข็ง สนับสนุน ส่งเสริมศักยภาพ และประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับวิชาชีพพยาบาลในการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่อไป