สคร. 5 ราชบุรี แนะประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” เพื่อป้องกันโรคจากพยาธิตัวตืด
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนรับประทานอาหารโดยยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานเนื้อสัตว์(โดยเฉพาะเนื้อหมู) และผักสด ควรสังเกตว่าสด ใหม่ และสะอาด เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดโรคจากพยาธิตัวตืด หากสงสัยว่ามีตัวพยาธิในร่างกายให้ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา
นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวพบพยาธิตัวตืดออกมาจากร่างกาย นั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่าโรคพยาธิตัวตืดพบได้ทั่วโลก คนติดพยาธินี้จากการรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงไม่สุกหรือสุกๆดิบๆ ที่มีถุงซีสต์ ซึ่งมีตัวอ่อนพยาธิอยู่ข้างใน คนทั่วไปเรียกเม็ดสาคู เมื่อเข้าสู่ร่างกายซีสต์จะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยเกาะอยู่ที่ผนังลำไส้เล็กของคนสามารถอยู่ได้นานหลายปี ตัวเต็มวัยมีลำตัวแบนคล้ายริบบิ้น มีสีขาว ยาว 2 ถึง 3 เมตร หรือมากกว่า พยาธิดำเนินชีวิตครบวงจรในคน หมายความว่าสามารถโตเต็มวัย จนสืบพันธุ์และไข่ปนออกมาทางอุจจาระ บางครั้งอาจมีปล้องพยาธิหลุดปนออกมากับอุจจาระได้ หากไม่ถ่ายอุจจาระลงส้วม จะทำให้ ไข่พยาธิออกมาปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม กลายเป็นวงจรแพร่กระจายพยาธิต่อไปอีก สำหรับอาการ ผู้ที่มีพยาธิตืดหมูในลำไส้ คือ จะหิวบ่อยแต่ผอมลง น้ำหนักลด นอกจากนั้นอาจจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียนหรืออุจจาระบ่อย เนื่องจากเกิดจากการระคายเคืองต่อลำไส้ แต่ถ้าหากคนนั้นอาเจียนขย้อนปล้องแก่ของพยาธินี้ จากลำไส้ขึ้นไปที่กระเพาะ พยาธิตัวอ่อนจะฟักจากไข่แล้ว ไชทะลุกระเพาะหรือลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดหรือน้ำเหลืองไปยังกล้ามเนื้อ หรืออวัยวะต่างๆ เช่นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อ สมอง ไขสันหลัง ตา หัวใจ ตับ ปอด และในช่องท้องแล้วฝังตัวและมีถุงน้ำหุ้ม จะมีอาการและอาการแสดงต่างๆขึ้นกับตำแหน่งถุงซีสต์ ถ้าอยู่ใต้ผิวหนังก็จะมีก้อนใต้ผิวหนัง ถ้าอยู่ที่ตาก็จะปวดตา ตาพร่ามัว สายตาผิดปกติหรือตาบอด ถ้าถุงซีสต์อยู่ในสมองผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดศีรษะเนื่องจาก ถุงซีสต์ไปอุดทางเดินน้ำไขสันหลัง ทำให้ความดันในสมองสูง อาจจะทำให้เกิดอาการชักได้
ส่วนหมู หรือวัว ติดเชื้อโดยกินอาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระมนุษย์ซึ่งได้รับไข่พยาธิและไข่โตเป็นซีสต์ในกล้ามเนื้อหมู (บางคนเรียกเม็ดสาคู) หรือวัว มักเกิดขึ้นในกรณีที่เลี้ยงระบบเปิดปล่อยให้หมู หรือวัวเดินไปมาบริเวณสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมไม่ดี ไข่พยาธิตืดหมูและตืดวัวสามารถแพร่กระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ ตราบใดที่คนยังมีพยาธิตัวเต็มวัยอยู่ในลำไส้ ยังไม่ถ่ายอุจจาระลงส้วม และไข่พยาธิตัวตืดยังคงมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเป็นเดือน
นายแพทย์สมาน กล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการในการป้องกันโรคพยาธิตัวตืด คือเลือกรับประทานอาหารที่สด ใหม่ และสะอาด ทั้งวัตถุดิบ และส่วนประกอบอาหาร ควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์(โดยเฉพาะเนื้อหมู)จากแหล่งที่ได้มาตรฐาน กรณีเนื้อหมูจะต้องล้างทำความสะอาด และปรุงให้สุกด้วยความร้อน ไม่กินแบบสุกๆดิบๆ ดื่มน้ำสะอาด ส่วนผัก ผลไม้ ต้องล้างผ่านน้ำหลายๆ รอบให้สะอาดก่อนรับประทาน และล้างมือ ให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร ก่อนปรุงอาหาร และหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง ที่สำคัญควรถ่ายอุจจาระลงส้วม และในโอกาสนี้ ขอเชิญชวนประชาชนทุกคนหันมาดูแลและใส่ใจสุขภาพของตนเอง ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน และสะอาด ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ เพื่อห่างไกลจากโรคทางเดินอาหาร ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนสังเกตตัวเองหากสงสัยว่ามีพยาธิในร่างกาย หรือมีปัญหาเรื่องระบบขับถ่าย น้ำหนักตัวลดผิดปกติ ถ้าไม่แน่ใจสามารถไปพบแพทย์ให้ทำการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาทันที ทั้งนี้เป็นการป้องกันการเกิดโรคพยาธิตัวตืดไม่ให้แพร่ไปสู่กับบุคคลอื่น เนื่องจากไข่พยาธิตืดหมูพร้อมที่จะติดต่อแพร่โรคได้ทันที และสามารถก่อให้เกิดโรคอย่างรุนแรงในคนได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันระบบสุขาภิบาลและระบบสุขภาพของไทยดีขึ้นมาก การขับถ่ายในส้วมที่ถูกหลักสุขาภิบาลไม่ถ่ายนอกส้วม หรือถ่ายลงสู่สิ่งแวดล้อม จะช่วยให้ปัญหาการแพร่กระจายโรคพยาธิลดลง หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี เบอร์ติดต่อ 032310804 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 นายแพทย์สมาน กล่าวปิดท้าย