ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินพร้อมคณะ ลงพื้นที่จังหวัดตรัง เร่งแก้ไขปัญหากรณีดัดแปลงอาคารเป็นที่เลี้ยงนกนางแอ่นส่งกระทบชุมชน
ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลทุ่งยาว อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง พลเอกวิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน รุดลงพื้นที่จังหวัดตรัง ร่วมกับนายไพบูลย์ โอมาก รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายกีรป กฤตธีรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงเร่งแก้ไขปัญหากรณีการดัดแปลงอาคารเป็นที่เลี้ยงนกนางแอ่นส่งกระทบชุมชนใกล้เคียงในด้านเสียงและกลิ่นรบกวน พร้อมรับฟังสภาพปัญหาทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบ เดินหน้าหาแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงระบบ หวังเสนอแนะภาครัฐที่เกี่ยวข้องจัดระเบียบผู้ประกอบการเลี้ยงนกนางแอ่นอย่างถูกวิธี ไม่กระทบชุมชน และสามารถพัฒนาคุณภาพรังนกไทย สร้างรายได้ให้ประเทศได้อย่างเต็มศักยภาพในอนาคต
พลเอกวิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้สืบเนื่องจากที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการประกอบการเลี้ยงนกนางแอ่นจากหลายจังหวัดในภาคใต้และตะวันออก อาทิ จังหวัดตรัง ยะลา ประจวบคีรีขันธ์ และระยอง เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการประกอบธุรกิจรังนก ซึ่งพบปัญหา 2 ประเด็นหลัก คือ 1) การประกอบการเลี้ยงนกนางแอ่นแบบ “รังนกบ้าน” โดยการดัดแปลงอาคารที่อยู่อาศัยให้เหมาะแก่การทำรังของนกนางแอ่น ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านเสียงและสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชน และ 2) ปัญหาด้านการเข้าเก็บ “รังนกถ้ำ หรือรังนกตามธรรมชาติ” ของผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทาน ซึ่งวันนี้เป็นการลงพื้นที่ ณ ชุมชนในตำบลทุ่งยาว อำเภอปะเหลียน เพื่อตรวจสอบในประเด็นแรก คือ ปัญหาการประกอบการเลี้ยงนกนางแอ่นแบบรังนกบ้าน ที่มีการร้องเรียนเรื่องการดัดแปลงอาคารที่อยู่อาศัยเพื่อเลี้ยงนกนางแอ่นและส่งผลกระทบทั้งในด้านเสียงและกลิ่นรบกวนแก่ชุมชนใกล้เคียง โดยได้ลงพื้นที่ปัญหา และประชุมร่วมกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ได้แก่ เทศบาลตำบลทุ่งยาว อำเภอปะเหลียน ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรัง สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตรัง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง พบว่า พื้นที่ปัญหาเป็นอาคารที่อยู่อาศัย 4 ห้อง ที่มีการดัดแปลงเป็นอาคารเลี้ยงนกนางแอ่น ซึ่งได้รับแจ้งจากผู้อยู่อาศัยใกล้เคียงว่ามีการเปิดเสียงเพื่อเรียกนกนางแอ่นเข้ามาในอาคารและได้รับผลกระทบด้านกลิ่นรบกวน ซึ่งการเลี้ยงนกนางแอ่นในอาคารในพื้นที่ในเขตชุมชนนี้ ขัดต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่งได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการระงับให้เจ้าของอาคารยุติการเลี้ยงนกนางแอ่นในอาคารดังกล่าวแล้ว จากนั้นในช่วงบ่ายได้ลงพื้นที่อำเภอกันตังพบผู้ประกอบการรังนกนางแอ่นที่ไม่มีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกรังนกได้เป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งถือว่าเป็นอีกสินค้าเศรษฐกิจที่สำคัญที่สร้างรายได้หลักแก่ประเทศ หากมีการสนับสนุนในการประกอบการเชิงอุตสาหกรรมสู่การเลี้ยงแบบรังนกบ้านหรือระบบฟาร์มอย่างถูกต้อง มีกฎหมายรองรับ กำหนดหลักเกณฑ์ในการเลี้ยงนกนางแอ่นในด้านการสร้างบ้านหรืออาคารเพื่อเลี้ยงนกนางแอ่นอย่างถูกวิธี อยู่บนหลักพื้นฐานทางสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นผู้ประกอบการรังนกนางแอ่นเพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางการพัฒนาคุณภาพรังนก การจัดเก็บรังนกที่ถูกวิธีตามหลักวิชาการ ที่ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะเป็นการยกระดับศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกอย่างเข้มแข็งต่อไป
มนต์เจริญ ศรีมงคล จ.ตรัง