สุพรรณบุรี รองผู้ว่านำเจ้าหน้าที่รณรงค์จัดกระเช้าของขวัญปีใหม่เพื่อสุขภาพ
ที่ จ.สุพรรณบุรี นายนพฤทธิ์ ศิริโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมด้วย เภสัชกรหญิงอุ่นเรือน เจริญสวัสดิ์ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุข จ.สุพรรณบุรี นายอัมพล มงคลอินทร์ นักวิชาการพาณิชย์ (ชำนาญการ) สำนักงานพาณิชย์ จ.สุพรรณบุรี และนายภาณุวัฒน์ ศุภพินิจ น.ส.นิตยา ศรีบานเย็น เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน สคบ. สำนักงานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำ จ.สุพรรณบุรี ตรวจสอบการปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายสินค้า โดยเฉพาะกระเช้าของขวัญ ของฝาก ของที่ระลึก ที่วางจำหน่ายภายในห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี แมคโคร และโรบินสัน สาขาสุพรรณบุรี เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการเลือกซื้อสินค้าให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐาน ปลอดภัย ในผลิตภัณฑ์ที่ได้เลือกซื้อ ที่สำคัญจะต้องมีราคาไม่แพงจากความเป็นจริงกับราคาของสินค้าแต่ล่ะชนิด
นายนพฤทธิ์ ศิริโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือในเทศกาลต่างๆ มีผู้บริโภคนิยมซื้อกระเช้าของขวัญ และชุดของขวัญ เพื่อนำไปอวยพรแก่ผู้ที่เคารพนับถือ ดังนั้นเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลเกี่ยวกับรายการอาหาร หรือวันเดือนปีที่สินค้าจะหมดอายุ หรือควรบริโภคก่อนที่อาหารในกระเช้าของขวัญ หรือชุดของขวัญในเทศกาลต่างๆจึงได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบตามระเบียบที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องของการแสดงฉลากของอาหารเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่นั้นจะมีกระเช้าของขวัญ ของฝากหลากหลายชนิดที่ทำออกมาจำหน่าย ซึ่งโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตามทางกระทรวงสาธารณสุขได้เน้นย้ำในเรื่องของการแสดงสัญลักษณ์ทางโภชนาการบนฉลากอาหารให้ผู้จำหน่ายมีป้ายกำกับราคา วันหมดอายุ ให้ชัดเจนเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค รวมไปถึงสินค้าที่แสดงสัญลักษณ์ทางด้านโภชนาการ ที่เป็นทางเลือกด้านสุขภาพ ในด้านอาหารมื้อหลัก เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส ผลิตภัณฑ์นม อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว ไอศกรีม ไขมันและน้ำมัน และขนมปัง ซึ่งจากการตรวจสอบในห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆใน จ.สุพรรณบุรี ขณะนี้ยังไม่พบสินค้าที่ต่ำกว่ามาตรฐาน อย่างไรก็ตามเราจะลงพื้นที่ตรวจสอบในตลาดที่ประชาชนเข้าไปเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ หรือกระเช้าของขวัญ ว่ามีสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค
สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” ไม่ใช่การโฆษณาสินค้า หรือจัดอันดับอาหารที่ดีหรือไม่ดี แต่มุ่งให้ความรู้กับผู้บริโภคในการเลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เป็นการเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารประเภทเดียวกันไม่ใช่อาหารข้ามกลุ่ม แม้สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” มิได้เป็นสัญลักษณ์บังคับ แต่ผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับสัญลักษณ์นี้ต้องผ่านเกณฑ์คุณค่าทางโภชนาการที่สามารถลดความเสี่ยงของการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้ สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” ช่วยให้ผู้บริโภคเลือกบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม แต่มิได้ส่งเสริมให้บริโภคอาหารที่มีสัญลักษณ์ดังกล่าวเกินกว่าปริมาณปกติที่เคยบริโภคด้วย
ภัทรพล พรมพัก/สุพรรณบุรี