สุพรรณบุรี จัดกิจกรรมดำวันแม่เกี่ยววันพ่อตามโครงการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ที่ จ.สุพรรณบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลพลับพลาไชย อำเภออู่ทอง จัดกิจกรรม “ดำวันแม่ เกี่ยววันพ่อ”ตามโครงการส่งเสริมการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีนายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานเปิดโครงการมีนายเสกสรร ถนอมกิตติ นายอำเภออู่ทอง นายพีระศักดิ์มาตรศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพลับพลาไชย เจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัด ปสุสัตว์อำเภออู่ทอง ผู้นำชุมชน ชาวบ้านตำบลพลับพลาไชย คณะครูนักเรียน ร่วมให้การต้อนรับและร่วมกิจกรรม
พื้นที่ตำบลพลับพลาไชย อดีตเคยมีการเลี้ยงกระบือกันแทบทุกหลังคาเรือนเพื่อใช้เป็นแรงงานในไร่นาใช้มูลสัตว์เป็นปุ๋ยใส่พืชผลหรือส่วนที่เหลือใช้ก็จำหน่ายสร้างรายได้ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเกษตรกรที่ประกอบอาชีพทำนามีการใช้เครื่องจักรรถไถนา แทนการใช้แรงงานกระบือ จึงไม่ให้ความสำคัญกับกระบือเหมือนในอดีตปริมาณกระบือในพื้นที่จึงลดลงอย่างมาก องค์การบริหารส่วนตำบลพลับพลาไชย เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ประสานขอสนับสนุนพันธุ์โค-กระบือจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภออู่ทอง และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อนำมาให้เกษตรกรยืมเพื่อผลิตลูก โดยได้ดำเนินโครงการธนาคารโค-กระบือมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2552 ล่าสุดในปี 2561, 2562 ได้รับการสนับสนุนกระบือ รวมทั้งสิ้น จำนวน 125 ตัว ทำให้ปริมาณกระบือในพื้นที่เพิ่มขึ้น
องค์การบริหารส่วนตำบลพลับพลาไชย และกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์โครงการธนาคารโค-กระบือ ตำบลพลับพลาไชย ได้มีแนวคิดร่วมกันที่จะอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรมีการเลี้ยง และพัฒนาการเลี้ยงกระบืออย่างยั่งยืน เพื่อเป็นรายได้เสริมจากการเกษตรเชิงเดี่ยว และพัฒนาต่อยอดเป็นการท่องเที่ยวนำรายได้เข้าสู่ชุมชนอีกทางหนึ่ง จึงได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อพสกนิกร ผ่านโครงการ ธนาคารโค – กระบือ เพื่ออนุรักษ์วิถีการปศุสัตว์แบบดั้งเดิม และพัฒนาต่อยอดเป็นการท่องเที่ยว เป็นการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่งเพื่อส่งเสริมอาชีพด้านการปศุสัตว์(การเลี้ยงกระบือ) ควบคู่กับอาชีพการเกษตรเดิม ลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว
กิจกรรมภายในงานมีการลงแขกเกี่ยวข้าว การสาธิตการทำขวัญข้าว การนวดข้าวแบบโบราณโดยใช้กระบือเหยียบ การหาบฟ่อนข้าว การตำข้าวเม่า การสีข้าวด้วยโรงสีโบก การมอบกระบือให้กับเกษตรกร การประกวดกระบือสวยงามและการไถ่ชีวิตโคกระบือ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนคนรุ่นใหม่คณะนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม ได้ศึกษาเรียนรู้เพื่อเป็นการสืบทอดวิถีชีวิตของชาวนาไทยสมัยบรรพบุรุษที่ใช้โคกระบือทำนาปลูกข้าวมาอย่างยาวนาน
ภัทรพล พรมพัก/สุพรรณบุรี