สุพรรณบุรี    พัฒนาความเชี่ยวชาญทางสาธารณสุขสำหรับอาจารย์และอาจารย์พี่เลี้ยง

สุพรรณบุรี    พัฒนาความเชี่ยวชาญทางสาธารณสุขสำหรับอาจารย์และอาจารย์พี่เลี้ยง
สถาบันพระบรมราชชนก พัฒนาความเชี่ยวชาญด้านการศึกษาทางสาธารณสุขสำหรับอาจารย์และอาจารย์พี่เลี้ยงในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข : ความร่วมมือกับ Temasek Foundation และ Nanyang Polytechnic International สาธารณรัฐสิงคโปร์


นายแพทย์สมชาย ธรรมสารโสภณ อธิการบดี สถาบันพระบรมราชชนก เป็นประธานเปิดการประชุม สรุปผลการอบรมโครงการการพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านการศึกษาทางสาธารณสุขสำหรับอาจารย์และอาจารย์พี่เลี้ยงในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดย เป็นการร่วมมือของมูลนิธิเทมาเสก มหาวิทยาลัยนันยางโปลีเทคนิคอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ และ สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุขไทย โครงการนี้มีการสนับสนุนทุนพัฒนาอาจารย์และอาจารย์พี่เลี้ยงจำนวน 180 ทุน จำนวน 8 หลักสูตร ได้แก่ 1) การบริหารการสาธารณสุข 2) หลักสูตรและการสอนทางการสาธารณสุข 3) การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม 4) การบริหารจัดการโรคไม่ติดต่อ 5) การบริหารจัดการด้านอาหารและโภชนาการ 6) การบริหารจัดการสุขภาพสตรี 7) การบริหารจัดการสุขภาพเด็กและวัยรุ่น และ 8)การบริหารจัดการสุขภาพจิต มีวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พระพุทธบาท เป็นผู้ประสานงาน มีดร.พิศิษฐ์ พลธนะ ผอ.วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุพรรณบุรี นำทีมคณาจารย์ และอาจารย์พี่เลี้ยงจาก รพ.ศูนย์เจ้าพระยายมราช ผู้รับทุนโครงการดังกล่าว เข้านำเสนอผลงานด้วย
ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญของอาจารย์และอาจารย์พี่เลี้ยง สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาระบบการศึกษาด้านสาธารณสุข โดยผู้ที่อบรมจะได้รับการเรียนรู้เกี่ยวกับรูปแบบการจัดการศึกษาที่เกิดขึ้นจากการประสานความร่วมมือระหว่างอาจารย์จากสถาบันการศึกษาและพยาบาลพี่เลี้ยงในแหล่งฝึกของประเทศสิงคโปร์ที่ดำเนินการพัฒนาการเรียนการสอนนักศึกษาไปด้วยกันอย่างใกล้ชิดทั้งในด้านการพัฒนาความรู้ที่ทันสมัยมากขึ้น เพื่อพัฒนาสถานบริการสุขภาพให้ได้มาตรฐานสากล อีกทั้งยังร่วมผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพตอบสนองตรงกับความต้องการของผู้ให้บริการสุขภาพ

ทั้งนี้การพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทยที่ดีนั้น จำเป็นต้องเริ่มต้นจากพัฒนาอาจารย์และอาจารย์พี่เลี้ยงในแหล่งฝึกในการที่จะผลิตนักศึกษาพยาบาลและนักศึกษาสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นการสรุปผลการดำเนินงานตามโครงการโดยมีวัตถุประสงค์คือ การนำเสนอผลการอบรม และการขยายผลการนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาการศึกษาพยาบาล และการสาธารณสุข นำเสนอแนวทางความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกระทรวงสาธารณสุข Temasek Foundation และ Nanyang Polytechnic International พร้อมกับประชาสัมพันธ์โครงการผ่านสื่อมวลชนต่างๆ นับได้ว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการอบรมชี้ให้เห็นว่ามีการพัฒนาด้านการศึกษาพยาบาลและการสาธารณสุขอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น อันจะส่งผลในด้านการเรียนการสอนและการให้บริการสุขภาพที่เป็นประโยชน์ต่อระบบบริการสุขภาพของประชาชนต่อไป
ภัทรพล พรมพัก/สุพรรณบุรี