สุพรรณบุรี    อบต.พลับพลาไชย คณะสตรี ผู้นำชุมชนชาวบ้านร่วมฟื้นฟูประเพณีงานบุญผะเหวด

สุพรรณบุรี    อบต.พลับพลาไชย คณะสตรี ผู้นำชุมชนชาวบ้านร่วมฟื้นฟูประเพณีงานบุญผะเหวด
ที่ วัดโพธิ์ทองเจริญ (วัดบ้านขาม) ต.พลับพลาไชย อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี นายเสกสรร ถนอมกิตติ นายอำเภออู่ทอง เป็นประธานงานประเพณีบุญผะเหวด ภาษาลาว หมายถึง พระนามของพระเวสสันดร ตามนิทานชาดกในพระไตรปิฎก หรือที่ภาคกลางเรียกว่า “เวสสันดรชาดก” ซึ่ง อบต.พลับพลาไชย ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการสตรีตำบลพลับพลาไชย สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (อพท.7) และชาวบ้านตำบลพลับพลาไชย ร่วมกันจัดขึ้นมีนายพีระศักดิ์ มาตรศรี นายก อบต.พลับพลาไชย นายอดิศักดิ์ มาตรศรี กำนันตำบลพลับพลาไชย นางพชรพรรณ มาตรศรี ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีอำเภออู่ทอง ผู้นำชุมชน และชาวบ้านตำบลพลับพลาไชย คณะสตรีทั้ง 12 ตำบลของอำเภออู่ทองร่วมงานกันอย่างเนืองแน่น

พระครูภาวนาโพธิวงศ์ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทองเจริญบ้านขาม เปิดเผยว่าคำว่า “ผะเหวด” เป็นภาษาลาว หมายถึง พระนามของพระเวสสันดร ตามนิทานชาดกในพระไตรปิฎก หรือที่ภาคกลางเรียกว่า “เวสสันดรชาดก” เนื่องจากชุมชนชาวบ้านขาม ตำบลพลับพลาไชย อำเภออู่ทอง แต่เดิมบรรพบุรุษได้อพยพมาจากหลวงพระบางในสมัยธนบุรี และชาวเวียงจันทร์ได้เข้ามาอาศัยอยู่สมทบในสมัยรัชกาลที่ 3 และตั้งถิ่นฐานอาศัยในพื้นที่มาจนถึงปัจจุบัน การเชิญผะเหวด เข้าเมืองนั้นเป็นกุสโลบายของบรรพชน เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังและลูกหลานได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะถือเป็นงานใหญ่ ทุกๆฝ่ายในชุมชนต้องสามัคคีกัน รู้จักแบ่งปันน้ำใจ โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเกื้อกูล สมัครสมานน้ำใจซึ่งกันและกันจึงจะดำเนินงานไปได้ เพราะงานบุญเช่นนี้ไม่มีผลตอบแทน ทุกคนคือผู้เสียสละ และจัดให้มีพิธีสมมุติเหตุการณ์ตามเนื้อเรื่องในพระเวสสันดรชาดก ตอนชาวเมืองไปเชิญพระเวสสันดรกลับสู่เมืองสีพีนคร จัดขบวนแห่แหนยิ่งใหญ่และสนุกสนาน เป็นการให้ผู้ที่ร่วมจัดเตรียมงานได้มีส่วนร่วมในขบวนแห่ ซึ่งจะมีพิธีเชิญพระอุปคุตเถระเพื่อปราบมารไม่ให้เข้าแทรกทำลายในระหว่างการฟังเทศน์มหาชาติหรือเทศน์ผะเหวด ด้วย ชาวบ้านขาม ตำบลพลับพลาไชย อำเภออู่ทอง ได้ถือปฏิบัติกันมานับร้อยปี แต่เดิมจะจัดในช่วงเทศกาลบุญเดือนสี่ ของทุกปี แต่ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนกำหนดเวลาการจัดงานมาเป็นวันแรม15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี โดยเปลี่ยนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2498 ซึ่งเลื่อนมาให้ตรงกับช่วงเทศกาลบุญพระเข้ากรรมในช่วงฤดูหนาว การจัดขบวนผะเหวดนั้น จะวางผังขบวนตามการปฏิบัติในพิธีเทศน์มหาชาติ ไว้เป็นช่วง ๆ

โดยจะมีขบวนนางอัปสรสวรรค์ร่ายรำ ขบวนพระอุปคุตเถระ ตำนานความเชื่อของชาวบ้านขาม เชื่อว่าพระอุปคุตเถระนั้นเป็นพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์มาก ในขบวนประกอบด้วยเครื่องสักการะบูชาและอัฏฐะบริขารตามภูมิปัญญาของท้องถิ่นเช่นบาตร ผ้าไตร จีวร ตาลปัตร บายศรี ขันธ์ 5 ขันธ์ 8ข้าวพันก้อน ข้าวตอกดอกไม้ ฉัตรธง ภาพพระบท ธงใยแมงมุม และผู้ที่จะเชิญพระอุปคุตนั้นต้องเป็นผู้สมาทานรักษาศีลห้าและศีลแปดซึ่งมีพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้นำ หรือ ประธานพิธี ขบวนพระเจ้าสญชัย-พระนางผุสดี พระราชบิดาของพระเวสสันดร ซึ่งตัดสินเนรเทศพระเวสสันดรให้ไปอยู่ป่า เนื่องจากพระเวสสันดร ได้มอบช้างชื่อปัจจัยนาค ซึ่งเป็นช้างเผือกคู่บุญของพระองค์แก่พราหมณ์ทั้งแปดจากเมืองกลิงคราช ในตอนนี้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ทรงไปเชิญพระเวสสันดรให้กลับคืนสู่เมืองสีพี ในขบวนมีพราหมณ์อัญเชิญเครื่องประกอบยศกษัตริย์นำหน้า และมีนางสนม ตามหลังขบวนเสด็จ ขบวนพระเวสสันดร-พระนางมัทรี ขบวนนี้มี ผู้สมมุติตนเป็นพระเวสสันดร-พระนางมัทรี ทรงหลังช้างห้อมล้อมด้วยทหารกองเกียรติยศ ขบวนเครื่องบูชากัณฑ์เทศน์มหาชาติ

 


ประกอบด้วยเครื่องบูชาและเครื่องประดับต่างๆ ธงใยแมงมุม เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของบรรพบุรุษทำมานับร้อยปี ซึ่งใช้กุสโลบายให้คนในท้องถิ่นได้ฝึกสมาธิและมีส่วนร่วมในความสามัคคี โดยชาวบ้านจะช่วยกันทำ เป็นแผ่นด้วยการเอาเส้นด้ายสีต่างๆมาพันกับไม้ไผ่สลับสีกันไป ตามหลักการเจริญสมถะกรรมฐาน กสิน 10ประการ เป็นรูปสี่เหลี่ยมบ้าง หกเหลี่ยมบ้าง แปดเหลี่ยมบ้าง ซึ่งมีความหมาย แตกต่างกันไป โดยผู้ทำใยแมงมุมนี้จะได้มีโอกาสฝึกสมาธิไปในตัวและสามารถช่วยบำบัดอาการสมาธิสั้นและความจำเสื่อมได้อีกทางหนึ่งด้วย พิเศษคือชาวบ้านได้ช่วยกันทำธงใยแมงมุมจำนวนมากเพื่อประดับประดาภายในบริเวณงานให้สวยงามด้วยสีสันตระการตาและแฝงไปด้วยคำสอนหรือเรียกว่าทะเลธงตามชื่อเรียกเทศกาล ทั้งนี้ธงใยแมงมุมยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีของคนในชุมชนเมื่อจบงานบุญผะเหวดแล้วชาวบ้านจะนำไปประดับไว้ที่บ้านของตนเพื่อจะได้หวนระลึกถึงเรื่องราวและความรู้สึกดีๆที่มีให้แก่กันและกันของคนในชุมชน ช่วยตอกย้ำให้ยึดถือความสามัคคีธรรมยิ่งๆขึ้นไป


พระครูภาวนาโพธิวงศ์ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทองเจริญบ้านขาม กล่าวว่างานประเพณีบุญผะเหวด ของชาวชุมชนตำบลพลับพลาไชยเคยจัดช่วงสมัยหลวงปู่เพียวเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทองเจริญ เมื่อประมาณ พ.ศ.2500-25 แล้วหยุดไปและครั้งนี้เมื่ออาตมาซึ่งเป็นเจ้าอาวาส จึงได้ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการสตรีตำบลพลับพลาไชย สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (อพท.7) และชาวบ้านตำบลพลับพลาไชย มาช่วยกันจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชุมชนให้คงอยู่สืบไป โดยได้รับเกียรติจากนายเสกสรร ถนอมกิตติ นายอำเภออู่ทอง และภรรยาแสดงเป็นพระเวสสันดร พต.อ.ภูวดิท คงเพชร ผกก.สภ.อู่ทอง และภรรยา แสดง พระเจ้าสญชัย
ภัทรพล พรมพัก/สุพรรณบุรี