มหาวิทยาลัยมหิดลจัดการประชุม Happy University Challenge: ความท้าทายของมหาวิทยาลัยแห่งความสุข
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ที่ ห้องประชุม เมจิก 2 ชั้น 3 โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธันย์ สุภัทรพันธุ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดการประชุม Happy University Challenge: ความท้าทายของมหาวิทยาลัยแห่งความสุข โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้อำนวยการ ผู้บริหาร นักสร้างสุข ร่วมการประชุม และมีรองศาสตราจารย์ ดร.รศรินทร์ เกรย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ตัวแทนคณะเจ้าภาพจัดการประชุม กล่าวรายงาน ด้วยมหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินการ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข สู่ องค์กรสุขภาวะ” ในระยะที่ 1 ปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2556 – 2559 ปัจจุบันได้ดำเนินการต่อเนื่องถึงระยะที่ 2 ระหว่างปี 2560-2562 มีภาคีเครือข่ายอย่างน้อย 40 แห่ง และได้พัฒนาศักยภาพให้นักสร้างสุขแล้วตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนประมาณ กว่า 2,000 คน จากทั้งสิ้น 20 มหาวิทยาลัย และมีภาคีขับเคลื่อน 7 แห่งที่ร่วมดำเนินสร้างสุขในมหาวิทยาลัยอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง
แนวคิด “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” มุ่งเน้นการขับเคลื่อนให้ทุกคนในองค์กรเป็นผู้นำทางความคิดและจิตวิญญาณ เพื่อนำไปสู่ “องค์กรสุขภาวะ” โดยขับเคลื่อนผ่านนโยบายและเป้าหมายที่ชัดเจน ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้มีความสามารถ รักและทุ่มเทการทำงานเพื่อความก้าวหน้าขององค์กร เสียสละ รวมไปถึง ต้องพัฒนาบุคลากรให้มีสมดุลชีวิต และอยู่อย่างมีความสุข ซึ่งจะส่งผลต่อความสำเร็จขององค์กร มหาวิทยาลัยแห่งความสุข จึงเป็นแนวคิดที่สนับสนุนการสร้างความสามารถ (Competency) การแข่งขัน (Competitiveness) และสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพตรงต่อความต้องการ (Customization) ของผู้ใช้บริการ อันเป็นเป้าหมายของการยกระดับมหาวิทยาลัย ให้สามารถเอาตัวรอดและมีศักยภาพในการแข่งขัน
การประชุมครั้งนี้ มีเจ้าภาพจัดการประชุม 7 ส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดล คือ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม คณะพยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สถาบันวิจัยโภชนาการ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วิทยาลัยการจัดการ และ หอสมุดและคลังความรู้ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ บุคลากร นักสร้างสุข รวมทั้งนักศึกษา โดยมุ่งหวังเพื่อให้เปิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการนำแนวคิดมหาวิทยาลัยแห่งความสุข ไปสู่การปฏิบัติ ที่ทำให้เห็นถึงผลลัพธ์และผลสำเร็จที่มีต่อองค์กร พร้อมร่วมชมผลงานที่หลายหน่วยงานนำมาจัดแสดง และเรียนรู้ร่วมกัน การประชุมในวันนี้ ยังมุ่งหวังที่ร่วมกันกำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัยแห่งความสุข และทบทวนบทบาทและความท้าทายของมหาวิทยาลัย ที่จะมีผลต่อการพัฒนาสร้างเสริม และสนับสนุนศักยภาพที่จะส่งผลให้ภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุขผ่านวิกฤตและเข้มแข็งมากขึ้นในศตวรรษที่ 21 ต่อไป
ข่าว/ นงนุช ดลชัยกรร์สกุล